ก่อนอื่นเราต้องขอโทษทุกท่านที่ตั้งกระทู้นี้ขึ้นมาในช่วงเวลาที่อาจจะไม่เหมาะสม โดยเราไม่มีเจตนาที่จะซ้ำเติมหรือทำตัวเก่งหลังเกมส์หลังจากที่ตลาดปรับตัวลดลงมาแล้ว แต่เราคิดว่ามันเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุด ที่จะทำให้ทุกท่านได้ตระหนักถึง “ประโยชน์ที่แท้จริง” ของ TFEX โดยเราทราบดีว่ามีนักลงทุนหลายท่านที่ไม่เห็นด้วยกับการมีตัวตนของตลาดนี้ และคงมีมากกว่าครึ่งที่หันหลังให้กับ TFEX เพราะภาพลักษณ์แย่ๆ ที่ติดตัวมันมา โดยหากมีบทความสักชุดหนึ่งที่ชักชวนให้พวกท่านเข้ามาในตลาดแห่งนี้ คงมีหลายคนเลือกจะปิดทิ้ง แต่เราอยากขอให้ทุกท่านลองอ่านบทความนี้ให้จบ … จากนั้นจึงค่อยพิจารณามุมมองต่อ TFEX อีกครั้ง

TFEX คืออะไร ? 

สำหรับคนที่เล่นหุ้นแต่ไม่เคยเล่น TFEX พอได้ยินคำนี้ผ่านเข้ามาในหู คงมีความคิดในแง่ลบเข้ามาในหัวทันที ทั้งเรื่องของความเสี่ยง,เป็นการพนัน,บ่อนทำลายตลาดหุ้น ฯลฯ แต่ทั้งหมดนี้ ไม่ใช่ความหมายของ TFEX เลยสักข้อเดียว เพราะแท้จริงแล้ว TFEX เป็นเพียงผลิตภัณฑ์ทางการเงินตัวหนึ่ง ที่ถูกพัฒนาโดยเพิ่มคุณสมบัติสำคัญ 2 ประการ คือ การเล่นขาลงและการขยายอำนาจเงิน เพื่อให้นักลงทุนได้ใช้สร้างกลยุทธ์การลงทุนที่ดีขึ้น โดยเฉพาะเรื่องของการ “ป้องกันความเสี่ยง” แต่ในปัจจุบันด้วยคุณสมบัติเหล่านั้นดันไปถูกใจคนบางกลุ่ม และถูกนำไปใช้ในทางที่ไม่ตรงตามวัตถุประสงค์อย่างการ “เก็งกำไร” และเมื่อเกิดความผิดพลาดจนหลายคนไม่ประสบความสำเร็จ กลายเป็นผู้แพ้จึงเลือกกล่าวโทษตัวของ TFEX มากกว่าตัวเอง ปล่อยให้มันกลายเป็นแพะรับบาปแทนที่แนวคิดที่ผิดพลาดมาตั้งแต่ต้นของนักลงทุนเหล่านั้น และที่สำคัญมันกลายเป็นปัญหาทำให้นักลงทุนท่านอื่น “ไม่กล้า” ที่จะเข้ามา และเสียโอกาสในการใช้ประโยชน์ที่แท้จริงของ TFEX ดังนั้น ในวันนี้เราต้องการนำเรื่องของการป้องกันความเสี่ยงมาปัดฝุ่นให้พวกท่านรับรู้อีกสักครั้ง และมันจะเป็นคำตอบที่ทำให้เรากล้าบอกกับทุกท่านว่า “นักลงทุนทุกคนจำเป็นต้องเล่น TFEX”

TFEX ไม่ใช่สินทรัพย์เพื่อการลงทุน แต่เป็นเพียงเครื่องมือที่ใช้ประกอบการลงทุนเท่านั้น !

นี่คือ Mindset แรกที่นักลงทุนมือใหม่ควรพกติดตัวเอาไว้ เพื่อดรอปความสำคัญของ TFEX ให้อยู่ต่ำกว่าพอร์ตหุ้นที่ตัวเองถือครองและทำให้ทุกท่านเข้าถึงการใช้ TFEX อย่างเหมาะสมที่สุด เพราะแท้จริงแล้วตราสารอนุพันธ์ถูกคิดค้นขึ้นมาโดยมีวัตถุประสงค์ในการ “ใช้ประกอบการลงทุนไปพร้อม ๆ กับพอร์ตหุ้น” ไม่ใช่การใช้มันเพื่อ แทนที่ การเล่นหุ้น อย่างที่รายย่อยเกือบทุกคนใช้อยู่ในทุกวันนี้ ดังนั้น โจทย์สำคัญที่มอบให้กับการลงทุนใน TFEX คือ “การทำกำไรในขาลงเท่านั้น” หรือที่พวกเรามักเรียกมันว่า การป้องกันความเสี่ยงนั่นเอง

ความหมายของการป้องกันความเสี่ยง

มีหลายท่านมองเรื่องการป้องกันความเสี่ยงเป็นเรื่องไกลตัว เข้าใจยากและไม่มีความจำเป็นสำหรับการลงทุนระยะยาว โดยเกือบทุกคนตระหนักถึงประโยชน์ของมันผิดทางไปจากที่เป็นจริงไว้เยอะมาก ! จึงทำให้มีน้อยคนนักที่จะทำการศึกษาและนำไปใช้ โดยเราจะมาทำให้ทุกคนเห็นว่าการป้องกันความเสี่ยงโดยใช้ TFEX นั้นมีประโยชน์มากเกินกว่าที่หลายคนคาดคิดไว้

การป้องกันความเสี่ยงหมายถึง การเข้ามาเล่นขาลง (Open Short) ในตลาด TFEX เพื่อนำกำไรที่ได้ไป ชดเชย กับการขาดทุนจากพอร์ตหุ้นที่เราถือครองไว้ และด้วยนิยามสั้น ๆ เพียง 1 ประโยคนี้ ทำให้เราสามารถสร้างกฎ 2 ข้อที่นักลงทุน TFEX ต้องยึดถือไว้ หากต้องการใช้มันในการป้องกันความเสี่ยง ดังนี้

1.เล่นแต่ฝั่งขา Short เท่านั้น
2.เล่นในมูลค่าไม่เกินพอร์ตหุ้นที่ถือครอง

หากใครที่เคารพกับกฎทั้ง 2 ข้อนี้ได้ เราขอแสดงความยินกับท่านด้วย เพราะพวกท่านได้ใช้ TFEX ตรงตามวัตถุประสงค์ที่ถูกสร้างขึ้นมาแล้ว ดังนั้นจึงสามารถสรุปในทางปฏิบัติได้ว่า การป้องกันความเสี่ยง คือ การสร้าง Model ในการเล่นเฉพาะฝั่ง Short ในตลาด TFEX เพื่อนำกำไรที่ได้ไปชดเชยกับการขาดทุนในพอร์ตหุ้นที่ถือไว้นั่นเอง

การทำกำไรในช่วงขาลงเป็นเรื่องที่ยาก ?

อันที่จริงเรื่องของสร้างกลยุทธ์หรือ Model ในการทำกำไรขาลงคงขึ้นอยู่กับทั้งความรู้และประสบการณ์ของแต่ละคน แต่หากมองในสถานการณ์ปัจจุบัน เราเชื่อว่าหลายคนคงตอบว่าง่ายกว่าขาขึ้นเสียด้วยซ้ำ ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจนัก เพราะองค์ประกอบหลายอย่างของตลาดหุ้นไทยก็เอื้อกับการมองลงมากกว่าขึ้น แต่บางคนก็อาจมองตรงกันข้ามเพราะเชื่อว่าตลาดลงมาต่ำแล้วต้องดีดขึ้นกลับขึ้นไป แต่เชื่อเราเถอะครับ ว่า “มุมมองเหล่านั้นไม่ใช่เรื่องสำคัญที่สุด” เพราะแท้จริงแล้วแค่เรา ลงทุนตามแนวโน้ม ด้วย Logic  ธรรมดาเพียงพอในการทำกำไรขาลง เพื่อใช้ป้องกันความเสี่ยงพอร์ตหุ้นแล้ว สำหรับตัวอย่างที่เราจะแสดงให้ทุกท่านเห็น เราจะทำการจำลองการ Trade ด้วยเงื่อนไขที่ง่ายที่สุด โดยใช้การตัดกันของราคา กับเส้น EMA 100 ในราย 15 นาที ดังรูป

 

รูปแสดงจังหวะการเก็งกำไรในฝั่งขาลง (Open Short) โดยใช้ราคากับ EMA 100 ในราย 15 นาที

จากรูปจะเห็นว่า เราจะทำการเปิดสถานะเล่นขาลง (Open Short) เมื่อราคาปิดมีการหลุดเส้น EMA 100 ลงมา และจะทำการปิดสถานะ (Close Long) เมื่อราคาปิดมีการกลับขึ้นไปยืนเหนือเส้น EMA 100 เช่นกัน โดยใช้ข้อมูลตัวอย่างตั้งแต่ ม.ค.2015 – ธ.ค.2019 เป็นจำนวนทั้งสิ้น 5 ปี จะได้ผลลัพธ์ดังนี้

รูปแสดงผลลัพธ์ของการใช้ราคาตัด EMA 100 ในราย 15 นาทีเฉพาะฝั่ง Short ในช่วงปี 2015-2019

*คำนวณหักต้นทุนค่าธรรมเนียมโดยคิดที่ 0.1 จุด หรือ 20 บาทต่อสัญญา

จากรูปจะพบว่าในรอบ 5 ปี ราคาปิดมีการหลุดเส้น EMA 100 ในราย 15 นาที ให้เราเปิดสถานะ Short จำนวน 584 ครั้ง โดยคิดเป็นกำไรสุทธิรวมทั้งสิ้น 269.1 จุด (หมายเลข 1) หรือคิดเป็นเงิน 53,820 บาทต่อสัญญา และจากตัวเลขที่เห็นเป็นสิ่งยืนยันว่าการทำกำไรขาลงในตลาด TFEX สำหรับ 5 ปีที่ผ่านมา ถือเป็นเรื่องที่ค่อนข้างง่าย โดยหากถ้าใครที่สามารถประยุกต์ System ได้ดีกว่านี้ก็จะสามารถทำกำไรได้มากขึ้นอีก 3-5 เท่า ซึ่งเป็นสิ่งที่ขาประจำในตลาด TFEX อาศัยความรู้และประสบการณ์กอบโกยกำไรกับสภาวะตลาดในช่วงที่ผ่านมา

แล้วทำไมยังมีบางคน(หลายคน) ที่ขาดทุนในตลาด TFEX 

พอทุกท่านอ่านมาถึงตรงนี้แล้ว คงสงสัยว่าทุกอย่างดูง่ายกว่าที่คิด แต่ทำไมในทางปฏิบัติถึงยังมีคนไม่ประสบความสำเร็จในตลาดมากกว่าคนที่ประสบความสำเร็จ เพราะแท้จริงแล้ว ความเป็นจริงมันไม่ได้ง่ายอย่างที่เห็น โดยแม้ว่าผลลัพธ์ระหว่างต้นทางไปถึงปลายทางจะเห็นว่าเราได้กำไรค่อนข้างชัดเจน แต่ในระหว่างทางมันค่อนข้างโหดร้ายและมีอุปสรรคเกิดขึ้นมากมาย โดยจะสังเกตได้จากทั้งความแม่นยำในการเทรด (หมายเลข 2) ที่กลยุทธ์เหล่านี้จะมีความแม่นยำที่ต่ำ (จังหวะที่ราคาปิดตัดกับเส้น EMA100 ไป-มา) โดยมีอัตราการชนะเพียง 20% เท่านั้น รวมถึงในสภาวะที่ตลาดเป็นขาขึ้นทำให้ไม่มีรอบทำกำไรของกลยุทธ์ที่เล่นแต่ฝั่งขา Short ทำให้ในบางช่วงเวลาเกิดความเสียหายและมีการขาดทุนสะสมสูงสุด (หมายเลข 3) ถึง 224 จุด ซึ่งคิดเป็นเงินกว่า 45,000 บาทต่อสัญญา โดยหากใครยังไม่เห็นภาพ เราลองมาจำลองเส้นทางเดินของพอร์ต (Equity Curve) รายวันของกลยุทธ์นี้ ดังรูป

รูปแสดงกำไร/ขาดทุนรายวันของกลยุทธ์การเก็งกำไรขาลงอย่างเดียวในตลาด TFEX

*เพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจนจึงคำนวณโดยใช้การเปิดสถานะจำนวน 5 สัญญาให้เทียบเท่ากับมูลค่าการลงทุน 1,000,000 บาท (สัญญาละ 200,000 บาท)

จากรูป จะพบว่ากลยุทธ์ Short Only ที่เราสร้างขึ้นมาจะทำกำไรได้ค่อนข้างมากในปี 2015 ซึ่งเป็นปีที่ตลาดหุ้น (SET) ย่อตัวจาก 1600 จุด มาทำจุดต่ำสุดที่ 1200 จุด และจากนั้นขาดทุนติดต่อกันถึง 2 ปี (ในกรอบสีแดง) สอดคล้องกับช่วงที่ตลาดหุ้นรีบาวกลับไปทำ New High ที่ 1800 จุด และกลับมาทำกำไรได้อีกครั้งจนถึงปัจจุบันเนื่องจากตลาดอยู่ในช่วงขาลงอย่างที่ทุกท่านเห็น สรุปแล้ว กลยุทธ์ที่ลงทุนตามแนวโน้มและเล่นแต่ฝั่งขาลง (Open Short) นี้ จะสร้างกำไรได้อย่างชัดเจนในช่วงเวลาที่ตลาดลง แต่ก็จะขาดทุนอย่างต่อเนื่องเมื่อตลาดเป็นขาขึ้นเช่นกัน แปลว่าหากถ้าเมื่อไหร่ตลาดกลับตัวมาเป็นขาขึ้นอย่างต่อเนื่อง นักลงทุนที่เดิมพันโดยใช้กลยุทธ์นี้อาจต้องเจ็บปวดและเสียหายหลายแสนดังเช่นอดีตที่เคยเกิดขึ้น แล้วพวกท่านคิดว่า  หากถ้าเป็นตัวพวกท่าน จะสามารถทนกับช่วงเวลาขาดทุนยาวนานอย่าง 2 ปีกว่าในกรอบนั้นได้จริงหรือ ? นี่จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้หลายท่านไม่ประสบความสำเร็จกับกลยุทธ์การเล่นขาลงในตลาด TFEX ในช่วงที่ผ่านมา

แต่เรื่องแบบนี้จะไม่เกิดขึ้นกับคนที่เล่นหุ้นพร้อมกับ TFEX ครับ

พวกท่านสังเกตุไหม ว่ากลยุทธ์ที่กล่าวอ้างถึงด้านบน จะมีจุดอ่อนสำคัญประการเดียว คือขาดทุนสะสมในช่วงที่ตลาดหุ้นเป็นขาขึ้น ดังนั้นหากถ้าเราถือครองหุ้นในมูลค่าที่เท่า ๆ กันในช่วงเวลาเหล่านั้นไปด้วย พวกท่านคิดว่าผลลัพธ์จะเป็นอย่างไร ? เดี๋ยวลองมาดูกันนะครับ มันอาจมีคำตอบที่ไม่น่าเชื่อเกิดขึ้นก็ได้

ก่อนอื่นเรามาทำการจำลองพอร์ตหุ้นแบบง่าย โดยการสุ่มเลือกหุ้นมาทั้งหมด 5 ตัว จากหุ้นที่นักลงทุนคุ้นเคยและเป็นตัวแทนของกลุ่มอุตสาหกรรมหลัก ๆ อย่าง PTT, SCC, KBANK, AOT และ CPALL และทำการเริ่มถือครองในช่วงเวลา 2015-2019 เป็นจำนวน 5 ปีย้อนหลังเช่นเดียวกับพอร์ต TFEX ตัวอย่างก่อน โดยจะได้ผลลัพธ์ของแต่ละตัว ดังนี้

รูปแสดง %การเปลี่ยนแปลงสะสมของส่วนต่างราคารายวันของหุ้นทั้ง 5 ตัวตลอด 5 ปีผ่านมา

*คิดเฉพาะส่วนต่างราคาเพียงอย่างเดียวโดยไม่รวมผลตอบแทนอื่น ๆ เช่น เงินปันผล

จากรูปพบว่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาหุ้นที่เป็นตัวแทนของกลุ่มอุตสาหกรรมต่าง ๆ มี Performance ที่แตกต่างกันออกไป โดยบางตัว (AOT) ให้ผลตอบแทนเกินกว่า 100% และบางตัว (PTT, CPALL) ที่ยังให้ผลตอบแทนเป็นบวกมากกว่าค่าเฉลี่ย และก็มีบางตัว (SCC, KBANK) ที่อาจมีผลตอบแทนแพ้ตลาดหรือติดลบ ซึ่งก็เป็นเช่นเดียวกับพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนทุกท่าน ที่มักจะมีหุ้นที่โดดเด่นและซบเซาผสมผสานกันไป แต่โดยภาพรวมแล้ว หากใครที่ทำการบ้านมาดีในระดับหนึ่งก็จะสามารถเลือกหุ้นที่ทำให้ทั้งพอร์ตโดยรวมมี Performance เป็นบวกได้ ดังนั้น เราลองมาทำการจำลองพอร์ตรวมหุ้นตัวอย่างนี้ โดยใส่เงินเข้าไปในหุ้นแต่ละตัวอย่างละเท่า ๆ กันจะได้ผลลัพธ์ ดังนี้

รูปแสดงกำไร/ขาดทุนรายวันของพอร์ตหุ้นที่นำมาเป็นตัวอย่าง
                              

*คิดจากการเงินลงทุน 1,000,000 บาท โดยแบ่งไปลงทุนตัวละ 200,000 บาทเท่า ๆ กัน

จากรูปจะพบว่าเมื่อเราจัดพอร์ตได้ดีในระดับหนึ่งผลลัพธ์สุทธิในระยะยาวก็จะสามารถสร้างผลตอบแทนที่เป็นกำไรได้ อย่างในกรณีนี้พอร์ตการลงทุนสามารถสร้างกำไรได้ถึง 390,000 บาทตลอด 5 ปีหรือคิดเป็นกว่า 39% ซึ่งเราเชื่อว่าตัวเลขนี้คงคล้าย (หรือควรจะคล้าย) กับ Performance ของนักลงทุนที่ถือหุ้นยาวหลายท่าน แต่ก็มีคำถามที่น่าสนใจว่า ทำไมเขาเหล่านั้นถึงยังคงมีความเครียดกับการลงทุนและไม่สามารถสร้าง Performance ได้ตามเป้าที่คาดหวัง ? สาเหตุนั้นเป็นเพราะว่า ในระหว่างทางเมื่อตลาดหุ้นต้องเผชิญกับปัจจัยระดับมหภาคในทิศทางลบ ก็จะส่งผลให้หุ้นทั้งพอร์ตปรับตัวลดลงในช่วงเวลาเดียวกัน ดังเช่นกรอบสี่เหลี่ยมทั้ง 2 ช่วง ทำให้พอร์ตหุ้นที่ถือครองจะต้องเผชิญกับการย่อตัวลง (Dawndown) มากกว่า 200,000 บาท หรือกว่า 20% ! จนบางครั้งกลายเป็นอาการ Panic วิตกกังวล และหลายท่านตัดสินใจผิดพลาด ขายหุ้นพื้นฐานออกไปในจังหวะที่ไม่ควรขาย และฉุดรั้งให้ Performance ที่ได้ต่ำกว่าที่ควร

และด้วยเหตุผลที่กล่าวมาคงทำให้ทุกท่านเข้าใจแล้วใช่ไหมครับ ว่าทำไมนักลงทุนที่ถือยาวถึงรู้สึกเครียดหรือบางครั้งตัดสินใจขายหุ้นนอกเหนือแผนการทุกครั้งที่ตลาดหุ้นเป็นขาลง เพราะจุดเริ่มต้นมันเกิดจากการที่เห็นพอร์ตตัวเองขาดทุนหรือย่อตัวลงมาหนักกว่า 20% การรับรู้ การประมวลผลและตัดสินใจจึงผิดพลาดไปด้วย ซึ่งพออ่านมาถึงจุดนี้แล้วพวกท่านเริ่มเห็นแล้วใช่ไหมครับ ว่าปัญหาของการถือหุ้นกับการเล่น TFEX แบบขาลงเท่านั้น มัน “ตรงข้ามกัน” ถ้าเป็นแบบนั้น หากเรานำเอาพอร์ตทั้ง 2 มาทำการผสมผสานเข้าด้วยกัน พวกท่านคิดว่าจะเป็นอย่างไร ? เราจะลองทำให้ดูนะครับ ซึ่งมันจะกลายเป็นไฮไลท์ของบทความนี้

รูปแสดง Performance พอร์ตหุ้นรวมและกลยุทธ์ Short Only TFEX ในมูลค่าที่เท่า ๆ กัน

ก่อนอื่นเราต้องขอบอกกับทุกท่านว่าในการจัดทำข้อมูลเราไม่ได้ทำการ Optimized ค่าเพื่อทำให้กราฟดูสวยแต่อย่างใด เพราะมันเป็นเรื่องบังเอิญที่พอเรานำทั้ง 2 กราฟมารวมกันไว้ในหน้าเดียวกัน จะพบว่ามีช่วงเวลากำไร/ขาดทุนที่สวนทางกันเกือบพอดี โดยตรวจเช็คค่า Correlation ของผลตอบแทนรายวันอยู่ที่ -0.62  ซึ่งหมายความว่า ทั้ง 2 พอร์ตมีความสามารถในการทำกำไร(ขาดทุน)ในช่วงเวลาที่แตกต่างกันถึง 62% แปลว่าในเวลาที่พอร์ตหุ้นขาดทุนจะมีแนวโน้มที่พอร์ต TFEX ทำกำไรกลับคืนมา ส่วนเวลาที่พอร์ต TFEX ขาดทุนก็จะมีแนวโน้มที่พอร์ตหุ้นได้กำไรกลับคืนมาเช่นเดียวกัน ซึ่งแท้จริงแล้วเรื่องทั้งหมดไม่ใช่ความบังเอิญ เพราะทุกอย่างเรา “ตั้งใจ” ให้เกิดผลลัพธ์แบบนี้ เพราะกลยุทธ์ที่เราสร้างนั้นถูกแบ่งหน้าที่กันอย่างชัดเจนแต่แรกนั้นคือ พอร์ตหุ้นใช้ทำกำไรในขาขึ้น และพอร์ต TFEX ใช้ทำกำไรในขาลง และเมื่อนำมาผสมกันต่างคนต่างมีประสิทธิภาพคนละช่วงสภาวะตลาด มันจึงทำให้เกิดผลลัพธ์ดังกราฟ

จากนั้นถึงเวลาที่เราจะทำการรวมพอร์ตให้กลายเป็นเส้นเดียวกันแล้ว โดยก่อนอื่นต้องขอสรุปภาพรวมที่เกิดขึ้น โดยเริ่มจากพอร์ตหุ้นพบว่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาในสภาวะที่ตลาดเป็นขาลงทั้ง 2 ช่วง (ปี 2015 และ ปี 2018-ปัจจุบัน) จะมีผลลัพธ์การลงทุนที่มีการขาดทุนสะสมมากกว่า 20% ส่วนพอร์ต TFEX ที่เล่นแต่ฝั่ง Short พบว่าช่วงที่ตลาดหุ้นขึ้นอย่างต่อเนื่อง (ปี 2016-2017) ก็มีการขาดทุนสะสมมากกว่า 20% เช่นเดียวกัน (เทียบกับมูลค่าสัญญา) ดังนั้น เมื่อเรานำทั้ง 2 กราฟมาทำการ “ลงทุนไปพร้อมๆกัน” โดยถือหุ้นทั้งหมดค้างไว้และทำการเปิด Short TFEX เป็นรอบ ๆ เมื่อเกิดสัญญาณขายเพื่อป้องกันความเสี่ยง จะได้ผลลัพธ์รวมออกมาดังนี้

รูปแสดงผลรวม (Total Equity) ของการถือหุ้นและกลยุทธ์ Short Only ในตลาด TFEX

*แบ่งเงินลงทุนในพอร์ตหุ้น 800,000 บาทและนำไปวางใน TFEX 200,000 บาทโดยเปิดสถานะเพียง 5 สัญญา

จากกราฟจะพบว่าเส้นสีเทาเป็นเส้นที่ทำการรวมกำไรขาดทุนของทั้งพอร์ตหุ้นและ TFEX เข้าด้วยกัน ซึ่งกราฟที่ได้ค่อนข้างมีความเสถียร และมีความเสี่ยงที่ต่ำลงเหลือไม่ถึง 100,000 บาทต่อรอบหรือน้อยกว่า 10% ! ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังสามารถเพิ่มกำไรให้พอร์ตรวมได้อีกด้วย สาเหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะไม่ว่าสภาวะตลาดจะเป็นเช่นใด จะมี 1 พอร์ตที่สร้างกำไรให้เสมอ โดยหากนักลงทุนสามารถจัดพอร์ตถือยาวได้อย่างดี + หา Model เล่นขา Short ที่มีประสิทธิภาพ ไม่ว่าสถานการณ์จะตลาดจะเป็นเช่นไร จะก่อให้เกิดผลลัพธ์ดังนี้

กรณีที่เป็นขาขึ้น (Up Trend) => พอร์ตหุ้นจะทำกำไรต่อเนื่อง ส่วนพอร์ต TFEX จะทรง ๆ เพราะไม่มี  สัญญาณให้ Short เกิดขึ้น

กรณีที่เป็นเป็นขาลง (Down Trend) => พอร์ต TFEX จะ Short ทำกำไรเป็นรอบ ๆ ส่วนพอร์ตหุ้นจะขาดทุนแต่หากเลือกหุ้นได้ดีก็จะขาดทุนน้อยกว่าที่ TFEX ทำกำไรชดเชยกลับมา

กรณีตลาดไม่มีทิศทาง (Side way) => พอร์ตหุ้นทำกำไรได้เล็กน้อยหากมีหุ้นบางตัวปรับตัวขึ้นต่อ ส่วนพอร์ต TFEX ก็จะขาดทุนเล็กน้อยจากสัญญาณขายหลอก

โดยความรุนแรงของกำไร/ขาดทุนในแต่ละสถานการณ์ก็ขึ้นอยู่ความสามารถในการจัดพอร์ตและการสร้าง Model Short ในตลาด TFEX ของแต่ละคน แต่โดยภาพรวมแล้ว การเกื้อหนุนกันของทั้ง 2 พอร์ตจะช่วยให้ผลลัพธ์ดีขึ้นกว่าการเล่นเพียงพอร์ตเดียวในระยะยาวอย่างแน่นอน

เราคิดว่ากราฟรวมพอร์ต (เส้นสีเทา) คงเป็น 1 ในการเจริญเติบโตของพอร์ตที่นักลงทุนหลายท่านแสวงหา โดยบางท่านอาจไม่คิดว่า มันสามารถเกิดขึ้นจริงได้ เพียงแค่พวกท่านเล่น TFEX อย่างถูกหลักการเข้าไปประกอบกับพอร์ตหุ้นของตัวเอง ซึ่งรายย่อยแทบทุกคนไม่เคยคิดที่จะใช้ แต่มืออาชีพเขารู้และใช้กันมานานแล้ว เพียงแต่ไม่มีความจำเป็นที่พวกเขาจะต้องนำออกมาบอกกับพวกเรา โดยบางครั้งแนวคิดพื้นฐานในเรื่องเล็ก ๆ ที่พวกเราเคยมองข้ามไป อาจเป็นสิ่งที่มีประโยชน์มากกว่าที่คิดไว้ก็ได้

ลองคิดดูนะครับ ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาที่หลายคนผิดหวังกับสภาวะตลาดหุ้นและผลตอบแทนในพอร์ตของตัวเอง แต่หากศึกษาเรื่องการใช้ TFEX เพื่อการป้องกันความเสี่ยงอย่างถูกวิธี พวกท่านสามารถเพิ่มผลตอบแทนในพอร์ตได้มากกว่าเดิมอีกเป็นเท่าตัว และที่สำคัญพวกท่านจะไม่ต้องทนกับความเครียดสะสมของการขาดทุนที่เกินกว่าระดับ 10% และนี่เป็นเรื่องจริงที่มีคนเข้าถึงได้น้อยที่สุด เพราะมัวหลงยึดติดกับความคิดที่ว่า TFEX คือตัวร้ายของการลงทุน ดังนั้นจากนี้ไปเราอยากเชิญชวนทุกท่านให้เดินเข้ามาในตลาด TFEX ด้วยความรู้ที่ถูกต้อง ไม่ใช่เป็นนักเก็งกำไรที่เข้ามาด้วยความโลภคิดที่จะรวยอย่างรวดเร็วด้วยการ Overtrade และไม่ Cut loss พอหมดตัวก็โทษว่า TFEX มันเสี่ยงและออกไปป่าวประกาศให้คนอื่นอย่าเข้ามาเหมือนอย่างในอดีต

สำหรับนักลงทุนหุ้นที่อ่านถึงตรงนี้และเข้าใจในเนื้อหาที่เราสื่อ เรายินดีให้คำปรึกษาทั้งเรื่องของการป้องกันความเสี่ยงและเก็งกำไรใน TFEX ผ่านทางหลังไมค์หรือทางไลน์ รวมถึงสามารถร่วมแชร์ความรู้และประสบการณ์ไปพร้อม ๆ กับมืออาชีพท่านอื่น ๆ ได้ที่ในห้อง Line Square ของเรา นอกจากนี้เราเข้าใจว่าดีว่าเรื่องที่ยากที่สุดสำหรับมือใหม่ คือ “การเริ่มต้น” โดยหลายคนกังวลว่าจะเริ่มต้นได้อย่างถูกต้องหรือไม่ ดังนั้น เราจึง “จัดสัมมนาฟรีสำหรับมือใหม่” ในวันอาทิตย์ที่จะถึง (2 ก.พ.) โดยตั้งใจให้มือใหม่ทุกคนมีเพื่อนก้าวเดินเข้าสู่ตลาดไปพร้อมกัน และจะตั้งห้องให้เฉพาะคนใน Class พร้อมแชร์ Trick ต่าง ๆ ตลอด 3 เดือนเพื่อให้ทุกท่านได้ความรู้ในทางปฏิบัติอย่างครบถ้วน โดยเหลือที่ว่างอีกเพียง 19 ที่เท่านั้น หากใครสนใจสามารถกรอกรายละเอียดได้ที่ลิ้ง

เราหวังว่าความรู้ที่เราจัดทำขึ้นมานี้ จะช่วยทำให้พวกท่านเข้าใจ TFEX มากยิ่งขึ้น รวมถึงเป็น 1 ในนักลงทุนที่เข้ามาใช้ประโยชน์จริงในตลาด TFEX  และหากที่คิดว่าบทความที่เราจัดทำพอเป็นประโยชน์พวกท่านสามารถแสดงออกให้เรารับรู้ด้วยกำลังใจ เพื่อให้เรารู้ว่ายังคงมีคนได้ใช้ประโยชน์จากข้อมูลของเราอยู่ สุดท้าย … เราทราบดีว่ากระทู้นี้คงไม่ได้เป็นเพียงกระทู้ที่ช่วยเหลือนักลงทุนเท่านั้น เพราะมันยังมีสิทธิ์ฆ่านักลงทุนบางส่วน ที่หลงเดินเข้ามาหรือเกิดความโลภระหว่างทางให้หมดตัวเพราะตลาด TFEX ดังนั้น หากใครที่อ่านจบแล้วคิดว่าตัวเองไม่พร้อม เราขอย้ำเตือนอีกครั้งว่า “อย่าเข้ามาเล่น TFEX ครับ”