หากถ้าในตลาดหุ้นไทยจะมีใครสักคนที่ Cut loss บ่อยที่สุด เรามั่นใจว่าหนึ่งในนั้นคงเป็นเราอย่างแน่นอน เพราะตลอด 10 ปีที่เล่น TFEX มา
เรา Cut Loss ไปไม่ต่ำกว่าพันครั้ง และเห็นคนที่ผิดพลาดกับการ Cut Loss มาไม่ต่ำกว่าร้อยคน โดยทุกครั้ง, ทุกเหตุการณ์เราเข้าใจเป็นอย่างดีว่า
“มันเจ็บปวดแค่ไหน” และเพื่อทำให้ปัญหานี้เกิดขึ้นกับนักลงทุนน้อยที่สุด เราจึงอยากถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ทั้งหมดผ่านบทความนี้
โดยรับรองว่าใครที่อ่านจบและปฏิบัติตามได้ พวกท่านจะประสบความสำเร็จในการ Cut Loss

  ในทุกครั้งที่พวกท่านไปฟังสัมมนาหรืออ่านตำราเล่มใดก็ตามที่เกี่ยวกับการเก็งกำไร หนึ่งในเนื้อหาสำคัญที่ต้องถูกพูดถึงและกำชับให้ทุกคนปฏิบัติตาม คือ “การ Cut loss” โดยแทบทุกคนต่างก็พยักหน้าและแสดงความเห็นด้วยกับมันทั้งสิ้น แต่ก็เป็นเรื่องตลกร้ายนะครับ ที่ในทุกวันนี้นักเก็งกำไรที่เจ๊งเกือบทั้งหมดล้วนแล้วแต่เป็นเพราะว่า พวกเขาไม่ Cut loss !!? เรื่องแบบนี้มันเกิดขึ้นได้อย่างไร ทำไมสิ่งที่ทุกคนมั่นใจว่าสำคัญที่สุด กลับกลายเป็นสิ่งที่ฆ่านักลงทุนมากที่สุด เราจะอธิบายให้พวกท่านฟังผ่านความรู้สึกที่ไม่มีตำราเล่มไหนได้บันทึกเอาไว้

ปัญหาใหญ่ที่สุดของการ Cut loss คืออะไร

“ก็เพราะพวกเขาไม่ยอม Cut ไง” นี่คงเป็นคำตอบแบบตรงไปตรงมาที่น่าจะถูกต้องมากที่สุด แต่เราอยากให้ทุกท่านลองทบทวนอีกสักรอบ ว่าเป็นแบบนั้นจริงหรือ? สิ่งที่ถูกบังคับให้ปฏิบัติในแทบทุกสำนัก หรือแม้แต่ขนาด Search Google ยังมีแต่บทความแนะนำ มีหรือที่ยังเหลือคนไม่เชื่อ ไม่เอาหน่า ลองให้เครดิตกับวิจารณญาณของมนุษย์ทุกคนเท่าตัวเราเองดูครับ ขนาดท่านยังรู้เลยว่าต้องทำ แล้วทำไมคนเหล่านั้นเขาจะไม่รู้ ดังนั้น เราจะบอกความจริงให้ว่า นักเก็งกำไรทุกคนเขาเคยผ่านการ Cut Loss มาหมดแล้ว เพียงแต่เกือบทั้งหมด “ไม่เคยสมหวังกับมัน” เลยทำให้พวกเขาเลือกที่จะไม่ทำอีก ซึ่งนี่แหละคือ ปัญหาที่แท้จริงของการ Cut Loss ไม่ใช่ว่าพวกเขาไม่ยอม Cut แต่ พวกเขาไม่สามารถใช้มันได้อย่างต่อเนื่อง

พวกท่านเชื่อเรื่อง “รู้ว่าดี แต่ทำไม่ได้” กันไหมครับ 

         “ในโลกของการลงทุนยังมีหลักการอีกมากมาย ที่เป็นหลักการที่ดี แต่มันไม่ง่ายที่นักลงทุนจะปฏิบัติตามได้ ซึ่งการ Cut Loss ก็เป็นหนึ่งในนั้น”      พวกท่านเห็นด้วยกับข้อความนี้หรือไม่? อันที่จริงข้อสรุปในพารากราฟก่อนของเราคงไม่ถูกต้องนัก เพราะมันไม่ใช่พวกเขาไม่สามารถใช้ได้อย่างต่อเนื่องแต่เป็นเพราะพวกเขาไม่สามารถ “ทน” ใช้ได้อย่างต่อเนื่องต่างหาก สอดคล้องกับประโยคที่กล่าวไว้ไหม? ดังนั้นสรุปแล้ว ทุกคนต่างรู้ว่าการ Cut Loss เป็นเรื่องที่ดี แต่ก็ทนทำกันไม่ได้

          “ไร้สาระครับ” นี่มันเกมส์การเงินนะ มีหรือที่จะมีคนค้นพบว่าสิ่งนี้ดีแต่เลือกที่จะไม่ทำ? เราอยากลองให้ทุกท่านไตร่ตรองแบบไม่หลอกตัวเอง
ว่าการที่ท่านกำลังลังเลกับการ Cut Loss แท้จริงแล้ว ท่านคิดว่ามันดี หรือ “มันไม่ดี” กันแน่ เราเชื่อว่าร้อยทั้งร้อยในขณะนั้น ทุกคนคงคิดสารพัดข้ออ้างอย่าง “ไม่ต้องคัทหรอก เดียวก็ดีด”, “คัทไปก็ขาดทุนปล่อยลุ้นดีกว่า”, “คัทไป 3-4 รอบแล้ว รอบนี้เดียวเจ้าก็ลากกลับ” มาใช้เป็นเหตุผลในด้านลบให้กับการ Cut loss และซัพพอร์ตให้ละเลยมัน สุดท้ายพอเจ๊ง ค่อยย้อนกลับไปดูถึงรับรู้ว่า “มันดี” แต่ก็สายไปแล้ว ดังนั้น ไม่มีจริงหรอกครับ กับคำว่า ดีแต่ทำไม่ได้ เพราะแท้จริงแล้ว มันไม่ดีอย่างที่พวกท่านคิด เลยทนทำต่อทำไม่ได้ ต่างหาก และนี้คือรากเหง้าของปัญหาที่ทำให้ทุกคนหันหลังให้กับการคัทลอส โดยถ้าเข้าใจกันแล้ว เราจะเล่า Case Study สุดคลาสสิคของคนเกือบทั้งหมดที่ล้มเหลวจากการ Cut Loss โดยแบ่งเป็น 3 ขั้นตอน ดังนี้

Step 1 : การ Cut Loss ผิดตั้งแต่นิยาม

“การ Cut Loss หมายถึง การตัดสินใจขายสินทรัพย์ทิ้ง เพื่อป้องกันไม่ให้ขาดทุนมากกว่านี้” อันที่จริงทุกคนเองก็เป็นเหยื่อที่ถูกสปอยล์โดยตำรา
และวิทยากร เพราะพวกเขามักถ่ายทอดให้ Cut Loss เป็นเครื่องมือที่วิเศษเกินจริง งงกันไหมครับ? กับแค่นิยามบรรทัดเดียวทำไมเราถึงบอกมันดูดีเกินไป ถ้าพวกท่านไม่เชื่อ งั้นลองถามตัวเองดูอีกสักรอบ ว่าในทุก ๆ ครั้งที่ตัดสินใจ Cut Loss ไปแล้ว ท่าน “คาดหวัง” ว่าอนาคตราคาต้องเป็นแบบใด ใช่แบบในรูปนี้หรือไม่

รูปแสดงผลลัพธ์ของการ Cut Loss ในอุดมคติ

นี่เป็นรูปใน Slide ของวิทยากรและหน้าหนังสือต่าง ๆ ที่สอนเกี่ยวกับการ Cut loss โดยจะเห็นว่าเมื่อขายทิ้งไปแล้ว ราคาไหลลงแรง ทำให้เรารู้สึกภูมิใจที่ได้รอดพ้นจากการขาดทุนหนักในครั้งนั้น และภาพนี้ก็ติดอยู่ใน Memory ของทุกท่าน โดยคาดหวังว่าในสถานการณ์จริง เมื่อทำการ Cut ไปแล้ว จะต้องดูหล่อแบบนี้บ้าง แต่รู้ไหมครับ ในสถานการณ์จริงเมื่อพวกท่าน Cut Loss มันจะเป็นภาพนี้

รูปแสดงผลลัพธ์ของการ Cut Loss ในความจริง

  “คัทแล้วดีด, คัทแล้วดีด, คัทแล้วดีดอีกแล้ว !” จริงไหมครับ ว่าในการ Cut Loss แทบทุกครั้งของพวกท่านมักจะเจอกับเหตุการณ์อย่างรูปด้านบน
ซึ่งมันตรงข้ามกับที่ได้เรียนรู้มา แล้วทีนี้พวกท่านเชื่อเราหรือยังว่า นักลงทุนถูกปลูกฝังให้เข้าใจเรื่อง Cut Loss ดูดีเกินจริง จากนั้นเมื่อความจริงที่ปรากฏมันไม่ Match กับความความหวังในหัว พวกท่านจะเริ่มเข้าสู่ขั้นตอนที่ 2

Step 2 : ลังเลกับการ Cut Loss


          เราขอยืนยันว่าคนที่ใช้ Cut loss ทุกคน ต้องเจอกับภาพด้านบน (คัทแล้วดีด) บ่อยกว่าภาพแรก (คัทแล้วไหล) และเราทราบดีว่าบางครั้งการเห็นราคาดีดกลับมันน่าแค้นใจมากกว่าเงินที่เสียไปซะอีก พอทุกคนเริ่มมีอารมณ์แบบนี้ก็จะเริ่มหวั่นไหว Panic ทั้งโทษเรื่องโชคลาภและเวรกรรม เช่น “ทำไมเราซวยแบบนี้ ที่ต้องมาคัทติดๆ กัน”, ”ไปทำกรรมอะไรมา ทำไมคัทแล้วต้องดีดใส่หน้า” และสุดท้ายพออารมณ์พวกท่านเริ่มหวั่นไหว ก็จะเกิดคำถามขึ้นในหัวทันทีว่า …
 
สรุปแล้วการ Cut Loss ดีจริงหรือ?

          ใครที่เริ่มมีความขัดแย้งนี้เกิดขึ้นในหัวเมื่อไหร่ จงพึงระวังไว้ เพราะในตอนนี้ตัวท่านเองกำลังเดินไปพบกับประตูสู่หายนะ ทีนี้ก็ขึ้นกับว่าท่านจะเปิดมันออกหรือไม่ ซึ่งหากถ้าท่านเลือกตัดสินใจ ไม่ Cut Loss เป็นครั้งแรก ให้รู้ไว้ว่าท่านได้เปิดประตูเข้าไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เพราะจุดจบที่กำลังรออยู่จะมี 2 กรณี ดังนี้

***** เชื่อพวกเรานะครับ มนุษย์ร้อยละ 95 เมื่อผนวก 2 เหตุการณ์รวมกันทั้งความผิดหวังที่ Cut Loss ไม่เป็นแบบที่คาด กับ อาการจิตตกจากการ Cut ติด ๆ กัน สุดท้ายไม่มีใครทนไหว ทุกคนจะต้องตัดสินใจ ทดลองไม่ Cut Loss อย่างแน่นอน *****

 

Step 3 : จุดจบของการไม่ Cut Loss

  อย่างที่บอกว่าพอพวกท่านเลือกลองไม่ Cut Loss จะมีจุดจบ 2 แบบ รอท่านอยู่

          กรณีที่ 1 แบบร้ายแรง หลังจากที่พวกท่านรู้สึกเหมือนโดนโชคชะตากลั่นแกล้งที่ต้อง Cut Loss ติด ๆ กัน จึงตัดสินใจไม่ Cut Loss และเมื่อนั้น ท่านจะรู้ได้ทันทีว่ากำลังถูกกลั่นแกล้งซ้ำเติมเป็นครั้งที่สองเพราะในครั้งนี้ตลาดจะไหลลงแรง สวนทางกับทุกครั้งที่มันดีด ซึ่งผลลัพธ์ก็จะทำให้พวกท่านได้แต่นั่งมองพอร์ตตัวเองติดลบไปเรื่อย ๆ จนหมดตัว จากนั้นค่อยมาสำนึกว่า “รู้งี้คัทลอสต่อดีกว่า” หากใครที่พบกับจุดจบแบบนี้ เราทั้งขอแสดงความเสียใจและยินดีกับพวกท่านด้วย เพราะแม้พวกท่านจะเจ๊ง แต่พวกท่านก็ได้รับ Mindset ที่แข็งแกร่งกลับคืนไปว่า ต่อจากนี้ไปจะมีวินัยในการ Cut loss ทุกครั้ง
 
          กรณีที่ 2 แบบร้ายแรงมาก สมมติเรื่องราวยังคงเป็นเช่นเดิม นั่นคือ พวกท่านขาดทุนติด ๆ กันมา และตัดสินใจไม่ Cut loss แต่รอบนี้ ตลาดดันดีดกลับ จึงทำให้ท่านรอดพ้นจากการขาดทุนและทำกำไรกลับคืนมา ทุกคนคงสงสัยใช่ไหมครับ ว่าแล้วมันร้ายแรงกว่ากรณีแรกยังไง? เพราะเห็นชัดๆ ว่าผลลัพธ์ออกมาดี แต่เราขอบอกเลยว่า พวกท่านโชคร้ายกว่ามาก เพราะสิ่งที่ท่านเจอมันคืออาการ “เลี้ยงไข้” ที่ทำให้เริ่มมั่นใจกับแนวคิดที่ว่า การคัทลอสไม่ใช่สิ่งจำเป็นเสมอไป เพราะเห็นอยู่กับตาว่า ไม่ Cut Loss บางครั้งผลลัพธ์ออกมาดีกว่า จากนั้นชีวิตของพวกท่านจะดำเนินไปด้วย “การคาดเดา” ว่าครั้งไหนควรคัท ครั้งไหนไม่ควรคัท และมันจะถูกสลับผิดไปเรื่อยๆ (จินตนาการตอน Sideway ที่ไม่คัทเดี๋ยวก็ดีดกลับให้ปิดทำกำไร) จนท่านเริ่มผ่อนปรนจากการพยายามคัทในทุกครั้งกลายเป็นพยายามไม่คัทในทุกครั้งแทน จนกระทั่งพวกท่านพลาด นั่นคือ เลือกจังหวะที่ไม่คัท แล้วตลาดไม่เข้าทาง ไม่ยอม Sideway แบบเดิม ทำให้เสียหายหนักและมากกว่ากำไรที่เคยได้ แล้วรู้อะไรไหมครับ? คนพวกนี้เขาปักใจเชื่อไปแล้ว! ว่าการคัทลอสไม่ได้ดีเสมอไป ดังนั้น เขาจะคิดเพียงแค่ “ตัวเองโชคร้าย ผิดพลาดครั้งเดียว ต่อไปถ้าระวังตัวคงไม่เจออีก” และพวกเขาก็จะฝึกแนวคิดไม่ Cut loss ต่อเรื่อย ๆ จนกลายเป็นวัฏจักร คือ ทำกำไรได้สักระยะกลับมาขาดทุนครั้งเดียวหมดตัว โดยไม่รู้เลยว่าแท้จริง “ผลลัพธ์สุดท้ายมันถูกกำหนดไว้แต่แรกแล้ว” 
 
***** เชื่อเราอีกสักรอบนะครับ ว่ามนุษย์ร้อยละ 95 จะพบเจอกับกรณีที่ 2 จึงทำให้ในทุกวันนี้เราเลยเห็นพวกที่ดูเหมือนเก่งแทงถูกบ่อย ๆ ทำกำไรได้ตลอด แต่ก็ไม่เห็นรวยสักที เพราะพวกเขาก็ยังติดอยู่ในบ่วงความล้มเหลวจากการหาจังหวะ Cut Loss ที่ผิดพลาดนั่นเอง *****