สวัสดีครับ มาต่อกันที่เรื่องของ Fund Flow ตอนที่ 2 โดยหลังจากที่เราทราบว่ายอดการซื้อขายของนักลงทุนต่างชาติมีผลต่อความเคลื่อนไหวของดัชนีหุ้นไทย ในวันนี้เราจะมาขยายความให้ทุกท่านได้รับรู้ถึงแง่มุมที่เกี่ยวข้องกับ Fund Flow โดยเริ่มต้นจาก ยอดการซื้อขายของทั้ง 4 กลุ่มในตลาดหุ้นไทย
ในวันนี้เราจะพาทุกท่าน มาทำความเข้าใจว่านักลงทุนกลุ่มใดที่มีอิทธิพลต่อการเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นมากที่สุด รวมถึงนักลงทุนกลุ่มใด ที่เป็นตัวชี้นำทิศทางของตลาดในอนาคต นอกจากนี้พวกท่านยังจะได้รับรู้ถึงชะตากรรมของนักลงทุนรายย่อยผ่านบทความนี้
รวมบทความเกี่ยวกับ TFEX และ Block Trade ของพวกเรา
Fund Flow เป็น หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่นักลงทุนใช้เป็นเข็มทิศชี้นำทิศทางในอนาคต
คงจะปฏิเสธไม่ได้นะครับ ว่ายอดการซื้อขายถือเป็นหนึ่งในหัวข้อหลักที่นักลงทุนนำมาใช้เป็นเหตุผลในการสนทนากันว่าตลาดหุ้นจะปรับตัวไปในทิศทางใด และอย่างที่ทราบกันว่าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้แบ่งนักลงทุนออกเป็นทั้งหมด 4 กลุ่ม ดังนี้
1. นักลงทุนสถาบันในประเทศ ที่พวกเราเรียกติดปากกันว่า “กอง”
2. นักลงทุนบริษัทหลักทรัพย์ ที่มีชื่อเล่นว่า “ปอบ”
3. นักลงทุนต่างประเทศ ที่เรานิยมเรียกว่า “หรั่ง”
4. นักลงทุนทั่วไปในประเทศ มีชื่อเรียกอย่างเจ็บช้ำน้ำใจว่า “เม่า”
ซึ่งแน่นอนว่าการเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นย่อมเกิดจากการแรงซื้อ-ขายของกลุ่มคนเหล่านี้ และต่างคนก็ต่างความเชื่อ ต่างศรัทธา ต่างมุมมอง บ้างก็เชื่อว่าผู้กองคือผู้กุมชะตาของปู่ SET เอาไว้ บ้างก็เชื่อว่าต่างชาติเป็นกลุ่มคนที่เข้ามาหอบเงินจากตลาดหุ้น บ้างก็เชื่อปอปต่างหากที่คอยหลอกกินตับนักลงทุนคนอื่นๆ หรือเม่าบางตัวก็คิดว่าเรานี้แหละ ที่เป็นพญาเม่าเอาชนะทุกกลุ่มในตลาด แต่เรื่องราวนั้นจะเป็นเช่นไร พวกเราขออาสานำพวกท่านเข้าสู่โลกแห่งความจริง ด้วยข้อมูลต่อไปนี้ โดยเริ่มจากข้อมูลที่จะบ่งชี้ว่า นักลงทุนกลุ่มใดที่มีอิทธิพลต่อการเคลื่อนไหวของตลาดมากที่สุด
กองทุนคือผู้ชี้ชะตาทิศทางการเคลื่อนไหวของตลาดในแต่ละวัน ?
สิ่งที่นักลงทุนทุกท่านสมควรจะต้องทราบเป็นอันดับแรก คือการเคลื่อนไหวของตลาดในแต่ละวันนั้นๆ นักลงทุนกลุ่มใดที่เป็นคนกำหนด โดยเราจะทำการทดสอบจากสมมุติฐานดังนี้
ตรวจสอบผลตอบแทนรายวัน (ราคาปิดวันนี้ – ราคาปิดวันก่อน) เพื่อดูว่าเป็นบวกหรือเป็นลบ จากนั้นทำการเทียบกับยอดซื้อขาย ณ สิ้นวันของนักลงทุนทั้ง 4 กลุ่ม ว่าผลเฉลยที่ออกมามีกลุ่มใดบ้างที่มียอดการซื้อขายตรงกับทิศทางของตลาดในวันนั้น ตัวอย่างเช่น ในวันที่ 13 ส.ค.57 ดัชนี SET50 ปิดที่ระดับ 1038.63 จุด โดยวันทำการก่อนหน้า (8 ส.ค.57) ดัชนีปิดที่ 1018.47 จุด แสดงว่าปรับตัวเพิ่มขึ้น 20.16 จุด จากนั้นจึงไปพิจารณายอดการซื้อขายสุทธิ ณ สิ้นวัน พบว่า
ต่างชาติ +3,684.79 ล้านบาท กองทุน +2,614.31 ล้านบาท
รายย่อย -6,933.72 ล้านบาท บริษัทหลักทรัพย์ +634.62 ล้านบาท
ดังนั้น จึงสรุปได้ว่าดัชนีที่เคลื่อนไหวในวันนี้ เคลื่อนไหวตามทิศทาง Fund Flow ของนักลงทุนต่างชาติ สถาบันและบริษัทหลักทรัพย์ เป็นต้น
โดยเราทำการเก็บข้อมูลทั้งหมด 7 ปีย้อนหลัง (พ.ศ.2555-2561) เป็นจำนวน 1708 วันทำการ และได้ข้อสรุปดังตาราง
ตารางแสดงจำนวนวันที่ตลาดปรับตัวไปในทิศทางเดียวกับยอดการซื้อขายของแต่ละกลุ่ม ณ วันนั้น (วันที่ T)
จากตารางพบว่ายอดการซื้อขายของนักลงทุนสถาบันมีความสอดคล้องกับทิศทางตลาดในวันนั้นถึง 66% เลยทีเดียว! หรือกว่า 2 ใน 3 โดยแบ่งเป็นขาขึ้น 645 วันและขาลง 490 วัน ในขณะที่รายย่อยกลับมียอดการซื้อขายที่สอดคล้องกับทิศทางตลาดเพียง 25% เท่านั้น นั่นหมายความว่า การเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นไทยในแต่ละวัน ถูกควบคุมจากยอดการซื้อขายของกองทุนเป็นหลัก นอกจากนี้ยังสังเกตได้อีกว่านักลงทุนทุกกลุ่มมียอดการซื้อขายที่สอดคล้องกับทิศทางตลาดเกิน 50% ซึ่งสวนทางกับรายย่อย และนี่คงเป็นเหตุผลที่ทำให้หลายๆ ท่านสามารถคาดการณ์ปริมาณการซื้อขายได้ถูกต้องเกือบทุกครั้ง ว่าใครเป็นผู้ซื้อหรือผู้ขาย เพียงแค่เห็นการเคลื่อนไหวของตลาดในแต่ละวัน
จากสถิตินี้ทำให้พวกท่านรู้สึกอย่างไรบ้างครับ? หลายคนคงรู้สึกหดหู่ใจและเริ่มท้อกับการลงทุนในตลาดหุ้น เพราะดูเหมือนว่านักลงทุนรายย่อยอย่างพวกเรากำลังเป็นแค่เหยื่ออันโอชะที่โดนอีก 3 กลุ่มที่เหลือคอยสลับกันกินเงิน … แต่พวกเราจะทำให้ทุกท่านมีกำลังใจเพิ่มขึ้นมานะครับ โดยการบอกว่า “สถิตินี้ยังไม่ใช่ข้อสรุปว่ารายย่อยของเราแพ้ให้กับตลาด” เนื่องจากข้อมูลที่เห็นเป็นเพียงข้อมูลที่เกิดขึ้นในวันนั้น (ซึ่งผ่านไปแล้ว) “ไม่ได้หมายความว่าวันต่อมาตลาดจะสวนทางกับรายย่อย” และคงเป็นเรื่องดีเสียด้วยซ้ำ หากถ้าวันนี้ตลาดปรับตัวลง แล้วรายย่อยเป็นฝ่ายซื้อสุทธิ แต่ในวันถัดมาตลาดกลับดีดตัวขึ้น ดังนั้น ใครจะเก่งไม่เก่งขึ้นอยู่กับการคาดการณ์ทิศทางในวันต่อมา โดยพวกท่านสามารถรับรู้ได้จากข้อมูลต่อจากนี้
รายย่อยอย่างพวกเราก็เก่งไม่แพ้ใครในตลาดเช่นกัน !
สำหรับเรื่องที่ 2 เราจะทำการตรวจสอบว่านักลงทุนกลุ่มใด ที่คาดการณ์อนาคตในวันถัดไปได้แม่นยำที่สุด โดยจะทำการเปรียบเทียบยอดการซื้อขายในวันนี้ กับทิศทางการเคลื่อนไหวของราคาในวันถัดไป ซึ่งผมเชื่อว่านี่คือสิ่งที่นักลงทุนอย่างพวกเราคอยเอาใจช่วยกับคำตอบและหวังว่าจะเข้าทางรายย่อยบ้าง โดยมีสมมุติฐานการทดสอบ ดังนี้
เราจะใช้ยอดการซื้อขายสุทธิในวันนี้ (วันที่ T) เป็นตัวตั้ง และดูว่าในวันต่อมา (T+1) ตลาดจะปรับตัวไปในทิศทางเดียวกับยอดการซื้อขายของกลุ่มใด โดยใช้ข้อมูลการทดสอบเป็นเวลา 7 ปีเช่นเดิม (พ.ศ.2555-พ.ศ.2561) ซึ่งจะได้ข้อสรุป ดังตาราง
ตารางแสดงจำนวนวันที่ตลาดปรับตัวไปในทิศทางเดียวกับยอดการซื้อขายของแต่ละกลุ่มในวันถัดไป (วันที่ T+1)
เมื่อพิจารณาจากตาราง ข้อมูลที่น่ายินดีสำหรับนักลงทุนรายย่อย เนื่องจากหากเราเปรียบเทียบข้อมูลในวันถัดไป (T+1) โดยพบว่าการเปลี่ยนแปลงของตลาดปรับตัวไปในทิศทางเดียวกับยอดการซื้อรายย่อยถึง 51% แซงหน้าทั้งนักลงทุนสถาบันและโบรกเกอร์ ดังนั้น ถ้าเราเห็นรายย่อยซื้อ เรามีโอกาสเห็นหุ้นขึ้นในวันถัดไปไม่ต่างจากกลุ่มอื่นเลย ซึ่งข้อมูลสถิติตัวนี้ คงล้างภาพของใครหลายคนที่กล่าวว่าพอรายย่อยซื้อวันต่อมาจะลง หรือขายแล้ววันต่อมาจะขึ้นได้ และเข้าใจเสียใหม่ว่ารายย่อยก็ไม่ได้แย่กว่ากลุ่มอื่นๆ เพราะตัวเลขที่ออกมานี้ชี้ให้เห็นว่าตลาดหุ้นไม่ได้มีใครที่เก่งกว่าพวกเราไปสักเท่าใดหรอก …
หากพวกเราสรุปออกมาแบบนี้ทุกท่านจะเชื่อจริงหรือ ?
ถ้าพวกเราสรุปให้พวกท่านฟังว่ารายย่อยเก่งกว่าทั้งสถาบันและโบรกเกอร์พวกท่านจะทำใจเชื่อกันลงจริงหรือ ? หลังจากที่เราให้กำลังใจทุกท่านเสร็จแล้ว จะขอพาพวกท่านไปรับรู้กับความจริงกันต่อ โดยจากข้อมูลที่แสดงให้ดูนั้นไม่ได้มีการโกหกแต่อย่างใด ว่ารายย่อยสามารถอ่านทิศทางในวันต่อมาได้ไม่แพ้กลุ่มอื่นๆ แต่ประเดี๋ยวก่อนนะครับ เราพูดชัดเจนว่านั่นเป็นเพียงข้อมูลเทียบกันเฉพาะ “วันนี้ กับ วันพรุ่งนี้” แล้วพวกท่านคิดว่าสถาบันกับต่างชาติเขาสนใจผลตอบแทนรายวันแบบนี้จริงหรือ ? คำตอบคือไม่มีทางหรอกครับ เพราะพวกเขามองกันในระยะยาว ดังนั้นเราลองมาดูข้อสรุปสุดท้ายที่บ่งชี้ว่าระยะยาวใครกันแน่ที่จะเป็น “The Winner” ในตลาดหุ้นไทย
โดยเราจะทำการทดสอบจากผลรวมของยอดสุทธิสะสมจำนวน 10 วัน เปรียบเทียบกับการเปลี่ยนแปลงของตลาด 10 วันย้อนหลังเช่นกัน
ตัวอย่างเช่น ในวันที่ 13 ก.ค.61 ดัชนี SET50 ปิดที่ 1080.05 จุด จากนั้น 10 วันทำการถัดมา (T+10) วันที่ 26 ก.ค.61 ดัชนีปิดที่ 1124.71 จุด โดยในรอบนี้เป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นถึง 44.66 จุด ! และเราจะทำการดูยอดซื้อขายสุทธิของนักลงทุนทั้ง 4 โดยพบว่าแต่ละกลุ่มมีปริมาณการซื้อขายสะสมในช่วง 10 วัน ดังนี้
ต่างชาติ +3344.04 ล้านบาท กองทุน +13,060.05 ล้านบาท
รายย่อย -12,949.93 ล้านบาท บริษัทหลักทรัพย์ -3,454.18 ล้านบาท
ดังนั้น จะพบว่าการขึ้นมากว่า 40 จุดในรอบนี้ทั้งกองทุนและต่างชาติเป็นผู้ลากขึ้นมาและได้ผลประโยชน์จากการปรับตัวขึ้นในรอบนี้ โดยเราทำการเก็บข้อมูลทั้งหมดในช่วง 7 ปีย้อนหลัง (พ.ศ.2555-2561) เป็นจำนวน 1708 วันทำการ และได้ข้อสรุปดังตาราง
ตารางแสดงจำนวนวันที่ตลาดปรับตัวไปในทิศทางเดียวกับยอดการซื้อขายของแต่ละกลุ่มในรอบ 10 วันทำการ
จากตารางพบว่าในรอบ 10 วันทำการยอดสะสมของนักลงทุนต่างชาติและบริษัทหลักทรัพย์ เป็นไปในทิศทางเดียวกับการเคลื่อนไหวของดัชนีในรอบนั้นมากถึง 65% โดยมีนักลงทุนสถาบันตามมาที่ระดับ 54% ซึ่งยังมากกว่าครึ่งหนึ่ง ส่วนนักลงทุนรายย่อยกลับลดฮวบลงมาเหลือเพียง 20% เท่านั้น หรืออธิบายได้ว่า รายย่อยมีโอกาสเพียง 1 ใน 5 ที่จะ “ตามน้ำ” ถูกทางและเกาะเทรนหลักของตลาด ส่วนที่เหลืออีกกว่า 80% จะสวนเทรนเสมอ …
ดังนั้นจากสถิตินี้คงจะสามารถดึงหลายคนกลับเข้าสู่ความเป็นจริงที่รายย่อยโดยรวมกำลังเผชิญกับการพ่ายแพ้ในระยะยาว โดยพวกเขา (รายใหญ่) แค่หลอกให้พวกท่านดีใจในบางครั้งบางคราว ที่เวลาซื้อขายแล้ววันต่อมาเป็นไปตามที่พวกท่านคาดการณ์ไว้ แต่ในระยะยาวพวกเขาทั้งหลายผลัดกันในการลากหรือทุบกันเป็นรอบๆ ถ้าเปรียบเทียบก็คงเหมือนกับเจ้ามือบ่อนนั่นแหละครับ ที่ไม่มีทางปล่อยทำให้ลูกค้าเสียในทุกครั้งที่แทง โดยให้มีการได้บ้างในระยะสั้น แต่เมื่อถึงเวลาเอาคืนเมื่อใด พวกเขาก็จะซัดพวกท่านกลับคืนชนิดที่แทบไม่ให้เหลือเสื้อผ้าออกจากตลาดเลย ซึ่งนี่แหละครับคือภาพรวมที่เกี่ยวกับเรื่อง Fund Flow ในตลาดหุ้น
นอกจากนี้เรายังมีประเด็นเล็กน้อยที่ทำให้พวกท่านสามารถรู้ได้ว่าใครกันแน่ ที่ลงทุนในระยะยาวและระยะสั้นในตลาดด้วยข้อมูลเพิ่มเติม ดังนี้
1.ต่างชาติมีพฤติกรรมซื้อขายต่อเนื่องมากที่สุด !
เราลองมาดูข้อเท็จจริงอีกมุมหนึ่ง เพื่อตอกย้ำว่านักลงทุนกลุ่มใดที่มีแนวโน้มในการเล่นหุ้นระยะยาวมากที่สุด และกลุ่มใดที่มีการคาดหวังแค่การตีหัวเข้าบ้านเพื่อทำกำไรเป็นรอบๆ โดยไม่สนใจว่าจะทำลายแนวโน้มหลักของตลาด
สมมุติฐานที่เราใช้ในการทดสอบ คือ หากถ้าพวกเขาทำการซื้อสุทธิในวันนี้ (วันที่ T) แล้ววันถัดไป (T+1) จะยังคงซื้อต่อเนื่อง ในทำนองกลับกัน หากถ้าพวกเขาทำการขายในวันนี้ (วันที่ T) แล้ววันถัดไป (T+1) จะยังคงขายต่อ โดยทดสอบทั้ง 2 วันติดกัน , 3 วันติดกัน และ 4 วันติดกัน ในช่วง 7 ปีย้อนหลัง (2555-2561) จะได้ผลสรุปดังตาราง
ตารางแสดงการซื้อขายสุทธิในทางเดิมติดกันต่อเนื่อง 2 , 3 , 4 วันทำการต่อเนื่องของนักลงทุนแต่ละกลุ่ม
จากตารางพบว่า นักลงทุนต่างชาติจะมีแนวโน้มในการซื้อหรือขายหุ้นไทยอย่างต่อเนื่องมากที่สุด โดยหากพิจารณาเพียง 2 วันทำการ พบว่ากว่า 2 ใน 3 ที่เราจะเห็นต่างชาติจะทำการซื้อขายในทิศทางเดิม ในขณะเดียวกันบริษัทหลักทรัพย์กลับมียอดการซื้อขายในทิศทางเดิมเพียงแค่ 1 ใน 2 หรือครึ่งเดียวเท่านั้น และหากพิจารณาในช่วง 4 วันข้อมูลกลับเด่นชัดขึ้น เนื่องจากนักลงทุนต่างชาติเขายังคงมีการยอดซื้อขายทางเดียวกันติดกัน 4 วันถึง 35% มากกว่าทั้งสถาบันและรายย่อยอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะบริษัทหลักทรัพย์ที่มีการพบเห็นการซื้อขายติดกัน 4 วันเพียง 17% เท่านั้น
2.บริษัทหลักทรัพย์แทบไม่เคยมีการซื้อสะสมเกิน 10,000 ล้านบาท !
เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่บ่งชี้ชัดได้เกี่ยวกับปริมาณการซื้อขาย ว่ามีนักลงทุนบางกลุ่มที่มีเป้าหมายอย่างชัดเจนในการเก็งกำไรในตลาดหุ้นระยะสั้น โดยหากถ้านักลงทุนกลุ่มใดที่มีเจตนาลงทุนระยะยาวจริง เขาควรมีการซื้อ-ขายสะสมติดกันเก็บเอาไว้ ดังนั้นเราลองมาดูสถิติต่อจากนี้
สมมุติฐานคือ หากเราทำการหาผลรวมสะสมของปริมาณการซื้อขายทั้ง 4 กลุ่ม โดยดูว่ามีกี่วันที่นักลงทุนเหล่านี้จะทำการซื้อหรือขายสะสมมากกว่า 10,000 ล้านบาท ในช่วง 10 วันทำการ โดยได้ผลสรุปดังตาราง
ตารางแสดงจำนวนวันที่ซื้อสะสมเกิน 10,000 ล้านบาทในรอบ 10 วันทำการของนักลงทุนแต่ละกลุ่ม
จากตารางพบว่า ในช่วง 10 วันทำการ นักลงทุนที่มีการซื้อหรือขายสะสมติดกันเกิน 10,000 ล้านมากที่สุด คือนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งสอดคล้องกับพฤติกรรมการซื้อขายต่อเนื่องของพวกเขา รวมไปถึงรายย่อยเองที่ตามมาเป็นอันดับที่ 2 แต่จุดที่น่าสนใจ คือ บริษัทหลักทรัพย์ที่ตลอด 7 ปีที่ผ่านมา พวกเขาแทบไม่มีมีการซื้อขายสะสมติดๆ กันมากกว่า 10,000 ล้านเลย บ่งชี้ได้ชัดเจนเกี่ยวกับทั้ง “กฎและนโยบาย” ที่ทาง บล. ได้ตั้งวัตถุประสงค์ในการลงทุนในตลาดหุ้นไทยส่วนทางฝั่งของกองทุนเอง ก็มีเรื่องที่น่าสนใจเช่นเดียวกัน นั้นคือเขาก็ไม่นิยมที่จะขายติดต่อกันเกิน 10,000 ล้านบาท ดังนั้นในช่วงตลาดขาลงแบบนี้ คนที่เราหวังพึ่งพาให้หุ้นไม่ลงแรงคงหนีไม่พ้นผู้กองที่ต้องช่วยค้ำจุนตลาดเอาไว้
เป็นอย่างไรกันบ้างครับ กับข้อมูลเกี่ยวกับ Fund Flow ในตลาดหุ้น คงได้รู้กันสักทีนะครับ ว่าแต่ละกลุ่มเขามี “บทบาท” ในตลาดอย่างไร กลุ่มไหนที่มีน้ำหนักต่อการเคลื่อนไหวของดัชนี และกลุ่มไหนที่สามารถชี้นำทิศทางตลาดในอนาคตทั้งระยะสั้นและระยะยาว และพวกท่านที่เป็นทั้งนักลงทุน Day Trade และเล่นรอบควรมีการปรับกลยุทธ์ในการใช้ Fund Flow อย่างไร และพวกเราขอไม่สรุปนะครับ ว่าในตลาดหุ้นไทยใครกันแน่ที่เก่งที่สุด เพราะเราแค่อยากให้พวกท่านนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ในการประกอบกลยุทธ์ของตนเองเท่านั้น
ซึ่งในเรื่องของ Fund Flow ตลาดหุ้นที่เราทดสอบให้ดู เป็นเพียงข้อมูลที่เป็นเบื้องต้นเท่านั้น พวกท่านยังสามารถนำไปประยุกต์กันต่อได้อีกมาก
สุดท้ายนี้ เราคิดว่ามิติของ Fund Flow ในตลาดหุ้นยังคงมีอีกหลายประเด็นที่ยังต้องค้นหาคำตอบและชใช้เป็นตัวชี้นำตลาด หากใครมีข้อมูลหรือความเห็นเพิ่มเติม มาร่วมพูดถึงแลกเปลี่ยนกันได้ทั้งทางคอมเม้นใน Pantip และใน Line Square และหากยังมีนักลงทุนที่สนใจเรื่องเหล่านี้ ช่วยเป็นกำลังใจให้พวกเราด้วยการคอมเม้นกดไลค์แชร์เพจของเรา และเราจะมาต่อกันในเรื่องราวของ Fund Flow ในตลาด TFEX สัปดาห์หน้า ขอบคุณครับ