ตลาดหุ้นไทยเป็น 1 ใน 25 ของตลาดหุ้นที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก
หากวัดตามมูลค่าตลาด (Market Capitalization) จะพบว่า ประเทศไทยมีตลาดหุ้นใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 21 ของโลก ที่ 9 เอเชีย และเป็นที่ 2 ของอาเซียนรองจากประเทศสิงคโปร์ โดยมีมูลค่ารวมกว่า 5 แสนล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็น 135% ของ GDP ทั้งประเทศ
ตารางแสดง 25 อันดับของตลาดหุ้นที่มีมูลค่าตลาดสูงสุดในโลก
ข้อมูลอ้างอิง : https://www.stockmarketclock.com/exchanges (15/7/2019)
ตัวเลขแสดงอันดับข้างต้น ถือเป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างมาก ที่ตลาดหุ้นไทยสามารถติดอยู่ใน Top 25 ของโลก แต่พวกท่านทราบหรือไม่ว่ายังมีเรื่องราวที่น่ายินดีมากขึ้นไปอีก นั่นคือ ตลาดหุ้นไทยมีสถิติบางอย่างที่ติดอันดับต้นๆ ของโลก ! สถิติดังกล่าวนั้นคืออะไร ? เราจะมาติดตามจากข้อมูลดัต่อไปนี้
ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ตลาดหุ้นไทยติด 1 ใน 3 ของตลาดหุ้นที่มีความผันผวน “ต่ำ” ที่สุดใน Top25
“ปัญหาของการลงทุนในประเทศกำลังพัฒนา คือความผันผวนที่สูง” เป็นนิยามที่ตำราทั้งหลายได้กล่าวไว้ แต่คงต้องยกเว้นสำหรับบางประเทศ และหนึ่งในนั้นก็คือประเทศไทย เพราะหากพิจารณาจากค่าความผันผวนแล้ว จะพบว่าตลาดหุ้นไทยมีค่าความผันผวนที่ต่ำเป็นอันดับต้นๆ ของโลก
ตารางแสดงส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานของผลตอบแทนรายวันในตลาดหุ้น Top 25 ช่วง 5 ปีปัจจุบัน
จากตารางข้างต้น จะพบว่าตลาดหุ้นไทยมีค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานของผลตอบแทนรายวันเท่ากับ 0.74 หมายความว่า โดยทั่วไปผลตอบแทนต่อวันจะมีค่า +/- ประมาณ 0.74% เท่านั้น ซึ่งหากเทียบกับดัชนีหลักอย่างนิกเคอิ ที่มีค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานเท่ากับ 1.27 แสดงให้เห็นว่าตลาดหุ้นไทยมีความผันผวนที่ต่ำกว่าตลาดหุ้นญี่ปุ่นประมาณ 60% และจากผลลัพธ์ดังกล่าว ทำให้ประเทศไทยมีค่าความผันผวนต่ำที่สุดเป็นอันดับ 3 ใน 25 ประเทศ แตกต่างจากประเทศที่กำลังพัฒนาใกล้เคียงกับเรา เช่น อินโดนีเซีย ที่อยู่ในอันดับที่ 12 นอกจากนี้ พวกเรายังพบข้อมูลบางอย่างที่บ่งชี้ว่า ตลาดหุ้นไทยมีสิ่งผิดปกติที่สุด เมื่อเทียบกับประเทศอื่น นั่นคือ…
ตลาดหุ้นไทยมีความผันผวนลดลงมากที่สุด เมื่อเทียบกับ 5 ปีก่อน !
โดยปกติแล้ว ความผันผวนที่ต่ำนั้นคงไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจสักเท่าใดนัก ถ้าหากตลาดหุ้นไทยมีโครงสร้างความผันผวนต่ำมาตั้งแต่แรก แต่ความจริงไม่ได้เป็นเช่นกัน เพราะความผันผวนที่ลดลงมานี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วง 5 ปีหลังเท่านั้น โดยสามารถเปรียบเทียบได้จากข้อมูลดังนี้
จากตารางจะพบว่าในช่วงปี 2010-2014 ตลาดหุ้นไทยมีความผันผวนของผลตอบแทนรายวันสูงถึงวันละ 1.13% แต่หลังจากนั้นในช่วง 5 ปีถัดมาจนถึงปัจจุบันกลับมีความผันผวนลดลงมาเหลือเพียง 0.74% เท่านั้น ส่งผลให้เป็นตลาดที่มีการปรับเปลี่ยน Ranking ความผันผวนมากที่สุด โดยกระโดดขึ้นมาถึง 11 อันดับ (จากอันดับที่ 14 ขึ้นมาอันดับที่ 3) ซึ่งแตกต่างจากประเทศที่อยู่หัวตาราง ที่แต่เดิมประเทศเหล่านั้นมีความผันผวนต่ำมาแต่แรกอยู่ก่อนแล้ว เช่น มาเลเซียที่ครองแชมป์ความผันผวนต่ำสุดในอดีต ก็ยังคงมีความผันผวนต่ำเป็นอันดับ 1 อย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน หรือสิงคโปร์ที่ถูกไทยแซง ก็ตกจากอันดับที่ 2 มาเป็นอันดับที่ 4 เท่านั้น ดังนั้น คงมีแต่ตลาดหุ้นไทยที่กำลังมีการเคลื่อนไหวของตลาดที่หายไปอย่างน่าตกใจมากที่สุดในโลก
เป็นอย่างไรกันบ้างครับ พวกท่านดีใจกับสถิติเหล่านี้กันบ้างหรือไม่? พวกเราเชื่อว่าคงมีนักลงทุนหลายท่านที่ไม่ได้รู้สึกปลื้มปีติและยินดีกับสถิติดังกล่าวแน่ๆ โดยเฉพาะท่านที่รักการเล่นหุ้นและเก็งกำไรเป็นรอบๆ แต่ยังไม่จบเพียงเท่านี้นะครับ หากเราวิเคราะห์เฉพาะปีปัจจุบัน ยังมีเรื่องที่โหดร้ายกว่านั้นสำหรับพวกเขา ซึ่งจะเป็นอะไรลองมาติดตามข้อมูลต่อไปนี้ครับ
ในปี 2019 ตลาดหุ้นไทยไม่เคยมีผลตอบแทน “ภายในรอบวัน” มากกว่า 1% เลย !
นี่เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่น่าเหลือเชื่อที่เกิดขึ้นกับตลาดหุ้นไทยในปีนี้ โดยหากพิจารณาเฉพาะ ส่วนต่างระหว่างราคาเปิดกับราคาปิดของวัน จะพบว่าในปีนี้ (2 ไตรมาสแรกของปี 2019) ไม่พบเลยแม้แต่วันเดียว ที่การเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นไทยจะกระชากหรือทุบให้ปิดเกินกว่า 1%
ตารางแสดงผลตอบแทนภายในวันของตลาดหุ้นไทยในปี 2018 – มิ.ย. 2019 ที่เกินกว่า 1%
จากตารางพบว่าในช่วงปี 2018 มีวันที่ส่วนต่างระหว่างราคาเปิดกับราคาปิดเกินกว่า 1% มากถึง 30 วัน โดยแบ่งเป็นทิศทางบวก 19 วัน และทิศทางลบอีก 11 วัน แต่สำหรับครึ่งปีแรกของปี 2019 นั้นกลับไม่พบแม้แต่วันเดียว ! เป็นข้อบ่งชี้ให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการลงทุนของนักลงทุนในตลาดหุ้นไทย โดยจากเดิมที่ราคาเคยเคลื่อนไหวเอาใจนักเก็งกำไรในลักษณะขึ้นสุด-ลงสุดเป็นรอบๆ ระหว่างวัน กลับกลายเป็นเคลื่อนไหวแคบลงเหลือเพียงไม่กี่ช่อง แล้วเหตุใดถึงเป็นเช่นนั้น? พวกเรามาถึงสถิติสุดท้าย ที่จะทำให้ทุกอย่างกระจ่างขึ้น และเป็นเรื่องที่ทำให้ทุกคนจะได้รับรู้ถึงพฤติกรรมของนักลงทุนในปัจจุบัน
นักลงทุนแห่ขายทำกำไร “ก่อนปิดตลาด” อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์
สถิติสุดท้ายนี้เป็นเรื่องที่ตอกย้ำถึงพฤติกรรมของนักลงทุนในตลาดหุ้นที่เปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง ซึ่งพวกเราเชื่อว่าทุกคนคงสังเกตเห็น แต่ยังไม่เคยมีผู้เก็บข้อมูลตัวเลขมาแสดงผล โดยพวกเราพร้อมที่จะเปิดเผยให้ทุกคนได้รับรู้และใช้ประโยชน์โดยทั่วกัน สิ่งที่พวกเราต้องการบอกกับพวกท่าน คือ นักลงทุน “พร้อมใจ” ขายทำกำไรแบบ Day Trade มากขึ้นเป็นประวัติการณ์ โดยเราจะทำการพิสูจน์ผ่านตลาด TFEX เพื่อให้เห็นภาพที่ชัดที่สุด ตามสมมุติฐานดังนี้
เมื่อไหร่ก็ตาม ที่ราคาปิด ณ ตอน 4 โมงเย็น สูงกว่า ราคาเปิดของวันนั้น (Up) แสดงว่าผู้ที่ซื้อหุ้นหรือ Long ได้กำไร ดังนั้น พวกเราจะตรวจสอบว่า ในชั่วโมงสุดท้ายตลาดจะถูกขายทำกำไรหรือไม่ ? ในทางกลับกัน หากราคาปิด ณ ตอน 4 โมงเย็น ต่ำกว่า ราคาเปิดของวันนั้น (Down) ตลาดจะถูกลากกลับขึ้นไปหรือไม่ ?
ตัวอย่างที่ 1 วันที่ 16/1/2019 SET50 Index Futures เปิดที่ราคา 1053 และในเวลา 16.00 น. ราคาตลาดเท่ากับ 1055.7 แสดงถึงการปรับตัวเพิ่มขึ้นระหว่างวัน (Up) แต่ปรากฏว่าราคาปิด ณ เวลา 16.55 น. ตลาดย่อตัวมาอยู่ที่ 1051.9 แสดงว่ามีการเทขายทำกำไรของขา Long ในชั่วโมงสุดท้าย ตามสมมุติฐานที่เราตั้งไว้โดยค่าส่วนต่างเท่ากับ 1055.7–1051.9 = 3.8 จุด
ตัวอย่างที่ 2 วันที่ 3/1/2562 SET50 Index Futures เปิดที่ราคา 1049 และในเวลา 16.00 น. ราคาตลาดเท่ากับ 1033.1 แสดงถึงการปรับตัวลดลงระหว่างวัน (Down) แต่ปรากฏว่าราคาปิด ณ เวลา 16.55 น. ตลาดดีดตัวกลับมาอยู่ที่ 1037 แสดงว่ามีการซื้อคืนปิดทำกำไรของขา Short ในชั่วโมงสุดท้าย ตามสมมุติฐานที่เราตั้งไว้ โดยค่าส่วนต่างเท่ากับ 1037.0–1033.1 = 3.9 จุด
โดยเราสามารถดูตัวอย่างของผลลัพธ์ทั้งหมดในเดือนมกราคม 2019 ดังนี้
จากตารางพบว่าใน 22 วันทำการในเดือนมกราคม 2019 มีการปิดทำกำไรในชั่วโมงสุดท้ายถึง 15 วัน หรือคิดเป็น 68.18% โดยมีมูลค่ารวมสุทธิสูงถึง 25.6 จุด บ่งชี้ให้เห็นถึงพฤติกรรมของนักลงทุนที่มีแนวโน้มปิดกำไร ณ สิ้นวันมากกว่าถือลุ้นในวันถัดไป แล้วพฤติการณ์แบบนี้เกิดขึ้นมาตลอดจริงหรือไม่ เราลองเปรียบเทียบกับเดือนมกราคมในปีก่อน (2018)
ตารางแสดงการปิดทำกำไรแบบ Day trade และส่วนต่างราคาในชั่วโมงสุดท้าย (Result)ของเดือน 1 ปี 2018
จากตารางพบว่าในเดือน มกราคมของปี 2018 มีเพียงแค่ 8 ใน 21 วันทำการเท่านั้นที่เกิดการเทขายทำกำไรในชั่วโมงสุดท้ายของวัน หรือคิดเป็น 38.1% โดยมีมูลค่ารวมสุทธิ -35.3 จุด นั่นหมายถึงโดยส่วนใหญ่แล้วนักลงทุนมักมีแนวโน้มถือต่อในทิศทางเดิมเพื่อกินกำไรเป็นรอบ ๆ ในวันถัดไป
พวกเราขอนำเสนอผลลัพธ์ของทุกเดือนในปี 2018 กับ 2019 กัน เพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจนยิ่งขึ้นครับ
ตารางแสดงการปิดทำกำไรแบบ Day trade และส่วนต่างราคาในชั่วโมงสุดท้าย (Result) รายเดือนของปี 2018-2019
จากภาพจะเห็นว่า แนวโน้มของการปิดทำกำไรในช่วง 1 ชั่วโมงสุดท้ายมีการเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยในปี 2018 มีค่าเฉลี่ยต่ำกว่า 50% แต่ในปี 2019 ค่าเฉลี่ยสูงขึ้นแตะระดับ 65% และมีบางเดือนที่มีการปิดทำกำไรสิ้นวันสูงถึง 94% หรือเกือบทุกวันทำการ และหากสังเกตจากมูลค่ารวมสุทธิจะพบว่าในปี 2018 แทบทุกเดือนมีค่าติดลบทั้งหมด แต่ในครึ่งปีแรกของปีนี้ (2019) พลิกกลับมาเป็นบวกทุกเดือน
จากข้อมูลทั้งหมด คงทำให้ทุกท่านได้เห็นแล้ว ว่าพฤติกรรมของนักลงทุนในตลาดมีการเปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัดเจน แล้วพวกท่านคิดว่าเพราะเหตุผลอะไรตลาดถึงเป็นแบบนี้ ? แล้วพวกท่านคิดว่าเพราะเหตุผลอะไรตลาดจึงเป็นเช่นนี้ ? เราจะค่อยๆ เฉลยคำตอบของทุกอย่าง โดยเริ่มจากคลิปต่อไปนี้ และหลังจากที่พวกท่านรับชมคลิปจบ เราอยากให้พวกท่านแสดงความเห็นกับประเด็น
“พวกท่านเห็นด้วยหรือไม่ กับการมีธุรกรรม Block Trade ในตลาดหุ้นไทย”
https://www.youtube.com/watch?v=uo19UN0kKbI&feature=youtu.be
สุดท้ายนี้พวกเรายังมีข้อมูลอีกมากที่คิดว่าจะเป็นประโยชน์และพร้อมนำเสนอ หากมีนักลงทุนสนใจช่วยแสดงให้เรารับรู้ด้วยกำลังใจของพวกท่าน โดยในบทความถัดไปเราจะนำเสนอมุมมอง การใช้ Block Trade ของรายใหญ่ในแบบที่พวกท่านอาจไม่เคยรู้ และพวกเราขออวยพรให้ทุกท่านประสบความสำเร็จในการลงทุน ขอบคุณครับ