ในทุกครั้งที่ก้าวเข้าสู่เดือนพฤษภาคมของทุกปี มักจะมีคำหนึ่งคำที่ถูกพูดถึงและสร้างแรงกดดันทำให้นักลงทุนบางคนจ้องจะขายหุ้นตั้งแต่ตลาดยังไม่เปิดทำการวันแรก ซึ่งคำนั้นก็คือ “Sell in May” และในปีนี้เอง ก็เป็นอีก 1 ปีที่บรรดานักวิเคราะห์,เกจิอาจารย์ รวมถึงเพื่อนสมาชิกในเวปบอร์ด ต่างได้แสดงความหวังดีบอกให้ทุกคนเฝ้าระวัง แล้วเหตุการณ์นี้เป็นจริงหรือไม่ ถ้าจริงใครที่ทำให้เกิดขึ้น แล้วเราควรจะมีวิธีการรับมืออย่างไร พวกท่านสามารถหา
คำตอบได้จากบทความนี้
Sell in May คืออะไร
Sell in May เป็นคำที่ย่อมาจากคำโบราณของชาวอังกฤษที่ว่า “Sell in May and go away, and come on back on St. Leger’s Day.” ที่พวกคนมีฐานะในสมัยนั้น ใช้พูดแทนการให้ออกจากเมืองลอนดอนเพื่อหนีร้อนและกลับมาอีกทีในเทศการแข่งม้า (St. Leger’s Day.) ซึ่งจะจัดในช่วงกลางเดือนกันยายน โดยประโยคนี้ได้ถูกหยิบยกมาใช้อีกครั้งในตลาดหุ้นวอล์สตรีทปี 1950 ที่พบว่าการเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกาจะค่อนข้างคงที่ในเดือน พ.ค.- ต.ค. และจะปรับตัวขึ้นอย่างมีนัยสำคัญหลังจาก พ.ย. เป็นต้นไป ดังนั้น พวกเขาจึงมีข้อสรุปออกมาว่า ไม่จำเป็นต้องเล่นเดือน พ.ค. ค่อยกลับมาหลัง ต.ค. และนี้จึงเป็นที่มาของเหตุการณ์ Sell in May ที่ถูกพูดถึงกันในทุกวันนี้
[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้
อย่างไรก็ตามได้มีคนพยายามหาเหตุผลมาซัพพอร์ตกับเหตุการณ์นี้ ทั้งเรื่องการประกาศงบไตรมาส 1 ที่ออกมาแย่, การประกาศจ่ายปันผลของบริษัทต่างๆ หรืออะไรก็ตามที่ทำให้พวกเขารู้สึกว่า “หมดข่าวดี” แล้ว แต่เอาเถอะครับ เราเชื่อว่าทุกท่านไม่ได้อยากรู้ทฤษฎีหรือที่มาของมันนักหรอก เพราะสิ่งที่ทุกคนอยากรู้ก็คือ “มันเป็นจริงหรือไม่” ดังนั้น เรามาลองมาหาคำตอบ ด้วยการดูสถิติย้อนหลังของผลตอบแทนตลาดหุ้นไทยในเดือนพฤษภาคม 10 ปีล่าสุดกัน
รูปแสดงผลตอบแทนรายเดือนของตลาดหุ้นไทยใน 10 ปี (2010-2019)
ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อครับ ในเดือนพฤษภาคมตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงถึง 8 ใน 10 ครั้ง หรือคิดเป็น 80% และมีค่าเฉลี่ยของการลดลงอยู่ที่ 2% ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่สูงและมีนัยสำคัญพอที่จะทำให้ใครหลายคนเกิดความกังวล โดยเมื่อเทียบกับเดือนอื่นที่รองลงมาอย่างเดือนพฤศจิกายนจะเห็นว่ามีการปรับตัวลดลงเพียง 6 ใน 10 ครั้งเท่านั้น ซึ่งนี่คงทำให้ไม่แปลกใจเลย ที่หลายคนกังวลเกี่ยวกับประเด็นนี้
แล้วใครเป็นคนทำให้เกิดเหตุการณ์นี้
เราคงหาตัวผู้กระทำได้ไม่ยากนัก เพราะในตลาดหุ้นมีนักลงทุนอยู่เพียงแค่ 4 กลุ่ม และหากเราต้องการรู้ว่า ใครที่เป็นคนกดดันให้ตลาดปรับตัวลดลง ก็แค่รวบรวมปริมาณการซื้อขายของแต่ละกลุ่มในช่วงเดือนนั้น แล้วดูผลลัพธ์ที่ออกมา ว่า เขาขายออกมาจริงหรือไม่ โดยเริ่มกันที่กลุ่มแรก
ผู้ต้องสงสัยคนที่ 1 “นักลงทุนต่างชาติ”
เป็นเรื่องปกตินะครับ หากมีเหตุการณ์อะไรที่ส่งผลในทางลบต่อตลาดหุ้น คนที่ตกเป็นจำเลยของสังคมการลงทุนอันดับแรก คงหนีไม่พ้น “ฝรั่ง” ผู้ซึ่งกระหน่ำขายหุ้นไทยอย่างไม่หยุดยั้งตลอดช่วงที่ผ่านมา แล้วพวกเขาจะเป็นตัวการที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์ Sell in May หรือไม่ เราลองมาดูหลักฐานจากปริมาณการซื้อขายสุทธิของพวกเขาได้ ดังรูป
รูปแสดงปริมาณการซื้อขายสุทธิในตลาดหุ้นไทยรายเดือนของนักลงทุนต่างชาติในรอบ 10 ปี
จากตารางเราคงไม่สามารถปฏิเสธได้ว่านักลงทุนต่างชาติเขา “เคย” เป็นกลุ่มผู้เล่นที่ทำให้เกิดเหตุการณ์ Sell In May อย่างแท้จริง เพราะตลาดช่วงเดือน พ.ค. นักลงทุนต่างชาติมีค่าเฉลี่ยในการขายสุทธิสูงสุดถึง 16,589 ล้านบาท ซึ่งมากกว่าเดือนอื่น ๆ ทั้งหมด แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าหากสังเกตข้อมูลอย่างละเอียดขึ้นจะพบว่าพวกเขา “เลิกสนใจ” เรื่อง Sell in May มานานแล้ว เพราะในช่วง 5 ปีหลังสุดพวกเขากลับใจมาซื้อหุ้นในเดือนพฤษภาคมถึง 4 ใน 5 หรือคิดเป็น 80% แทบจะสวนทางกับเดือนอื่น ๆ ที่ขายสุทธิโดยเฉพาะในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี ดังนั้น หากถ้ามองเรื่องการขายของฝรั่งทำให้เกิดเรื่องนี้แล้ว เราคงต้องโฟกัสกับ Sell in ลอยกระทง หรือ คริสมาสต์เสียมากกว่า
เดี๋ยวนะ … แม้ฝรั่งจะเลิกขายแล้ว แต่ในช่วง 5 ปีหลังสุด ตลาดหุ้นก็ลงอยู่ดี
แล้วเกิดอะไรขึ้นกับเดือน พ.ค. ในช่วง 5 ปีหลังสุด ทั้งๆที่ต่างชาติเขาแทบจะไม่ขายหุ้นแล้ว ทำไมตลาดหุ้นถึงยังปรับตัวลดลงอยู่ แสดงว่าคนที่กดดันตลาดในช่วงเดือนพฤษภา อาจไม่ใช่ต่างชาติแต่เป็นกลุ่มอื่น 1 ใน 3 ที่เหลืออยู่ ดังนั้น เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา เราลองมาพิจารณาข้อมูลของทั้ง 4 กลุ่ม พร้อม ๆ กันไปเลย ว่าในช่วง 5 ปีหลังสุด ใครกันแน่ที่ทำให้เกิด Sell in May
รูปแสดงปริมาณการซื้อขายสุทธิในตลาดหุ้นไทยรายเดือนของทั้ง 4 กลุ่มตั้งแต่ปี 2016-2019
จากรูปหากเราไล่พิจารณาตั้งแต่ปีแรก คือ ปี 2015 ที่ตลาดหุ้นลง 2% ในเดือน พ.ค. จะพบว่ายอดการซื้อขายสอดคล้องกับบริษัทหลักทรัพย์ที่ขายอยู่เพียงกลุ่มเดียว ส่วนปี 2016 ที่รายย่อยขายหนักตลาดกลับปรับตัวเพิ่มขึ้น ส่วนในปี 2018 ที่ตลาดลงแรง 3% ยอดสอดคล้องกับการขายของต่างชาติ และสุดท้ายในปีที่ผ่านมา (2019) ตลาดลงแรงยอดก็สอดคล้องกับกองทุนที่ขายอยู่กลุ่มเดียวเช่นกัน ซึ่งจากข้อมูลทั้งหมดแสดงให้เห็นว่า ตัวการที่ทำให้เกิด Sell In May นั้นสลับกันในแต่ละปี
หากสรุปออกมาแบบนี้ หลายคนยังคาใจกับคำตอบ
เราเชื่อว่าหากสรุปออกมาไม่ชัดเจนแบบนี้ คงทำให้ไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ ดังนั้น เราลองมาพิจารณาให้ละเอียดยิ่งขึ้น โดยข้อมูลตามแนวนอน โดยเปรียบเทียบน้ำหนักการลงทุนของแต่ละเดือนในระหว่างปี แล้วทำการพิจารณาดูว่า กลุ่มไหนมีแนวโน้ม Underweight การลงทุนหุ้นไทยในเดือน 5 มากที่สุด โดยแสดงได้ดังตัวอย่าง
รูปแสดงอันดับปริมาณการซื้อขายสุทธิในแต่ละเดือนของต่างชาติในปีที่ 2015
จากรูป แม้จะเห็นว่าในเดือน พ.ค. ปี 2015 ต่างชาติจะซื้อเพียงแค่ 3,147 ล้านบาทเท่านั้น แต่เมื่อเทียบกับเดือนอื่น ๆ ในปีเดียวกันแล้ว เขามียอดซื้อขายสุทธิมากสุดเป็นอันดับ 1 โดยภาพนี้ยิ่งแสดงให้เห็นว่า เขาไม่ได้สนใจเรื่อง Sell In May ตามที่พวกเรากล่าวหาแต่อย่างใด เอาละครับ เราลองมาดูอันดับของกลุ่มอื่น ๆ ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมากันดีกว่า
รูปแสดงอันดับปริมาณการซื้อขายสุทธิในแต่ละเดือนของทุกกลุ่มในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (2015-2019)
จากรูปเมื่อเราทำการเทียบอันดับการซื้อขายสุทธิแต่ละเดือนของทุกกลุ่มแล้วพบว่าในเดือน พ.ค. โดยเฉลี่ยกองทุนจะมีน้ำหนักการลงทุนเป็นอันดับ 9 เมื่อเทียบกับเดือนอื่น ๆ แสดงให้เห็นว่าพวกเขามีแนวโน้ม Underweight การลงทุนในเดือนนี้ ส่วนบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ยิ่งหนักเข้าไปอีก เพราะพวกเขากลายเป็นกลุ่มคนที่มองเดือนพฤษภาคมน่าสนใจซื้อหุ้นเป็นอันดับสุดท้าย และเป็นเรื่องที่ค่อนข้างน่าตกใจที่ต่างชาติกลับมีค่าเฉลี่ยการซื้อขายในเดือน พ.ค.เป็นอันดับ 2 ส่วนรายย่อยอย่างพวกเรา ก็เป็นไปตามคาดที่ไม่ได้มีผลกับเรื่องนี้สักเท่าไหร่ เพราะมีน้ำหนักการลงทุนอยู่กลาง ๆ ที่อันดับ 5
จากข้อมูลทั้งหมด เราจึงสามารถสรุปได้ว่า ต่างชาติไม่ได้เป็นคนที่ทำให้เกิดการ Sell in May อย่างที่หลายคนเข้าใจผิด หนำซ้ำพวกเขามีมุมมองเชิงบวกต่อเดือน พ.ค.ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาเสียด้วยซ้ำ แต่กลับกลายเป็นคนที่คอยเตือนพวกเราอย่างสถาบันและโบรกเกอร์ ที่มีมุมมองเชิงลบ คงให้อารมณ์เหมือนกับคนที่คอยเตือนพวกเราระวังราคาร่วงแต่ตัวเองก็กำลังขายใส่ ซึ่งถ้าพวกท่านหวังดีกับเราจริง เปลี่ยนจากคำเตือนเหล่านั้นเป็นการกระทำเสียดีกว่า โดยเรื่องนี้เราคงไม่สามารถกำหนดเรื่องได้ และรายย่อยอย่างพวกเราก็ต้องดูแลตัวเองให้ดีที่สุด
ในช่วงท้ายนี้ เรามีข้อมูลสำคัญที่ต้องอัพเดทให้ทุกคนได้รับรู้ ซึ่งเป็นข้อมูลที่จะช่วยให้พวกท่านสามารถวิเคราะห์ทิศทางตลาดเกี่ยวกับ Fund Flow ได้ถูกจุด โดยพวกท่านยังจำได้ไหมครับ เมื่อกลางปีที่แล้ว เราได้ออกบทความเกี่ยวกับ กลุ่มคนที่มีผลต่อทิศทางการเคลื่อนไหวของตลาด ดังกระทู้
>> นักลงทุนกลุ่มใดกันแน่ !?! คือผู้ชนะตัวจริงในตลาดหุ้นไทย
โดยจากกระทู้สามารถสรุปได้ว่า “การเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นไทยแต่ละวัน ถูกกำหนดจากเม็ดเงินของกองทุน 66%” ซึ่งพวกท่านทราบหรือไม่ ว่าในช่วงปีนี้ 4 เดือนที่ผ่าน (ม.ค. – เม.ย.) ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้น ดังนี้
รูปแสดงความสัมพันธ์ของทิศทางตลาดกับ Fund Flow กลุ่มต่าง ๆ ของต้นปี 2020
จากรูปจะเห็นว่าในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมา มีวันทำการ 84 วัน ทิศทาง Fund Flow ของกองทุนนั้นสอดคล้องกับการเคลื่อนไหวของตลาดถึง 64 วัน หรือคิดเป็นเกือบ 80% เปรียบเทียบง่าย ๆ ในทุก 5 วันตลาดหุ้นจะเคลื่อนไหวไปในทาง Flow ของกองทุนประมาณ 4 วัน ดังนั้นจากข้อมูลนี้คงทำให้พวกท่านพอเห็นภาพแล้วว่า ในเดือนนี้และในอนาคตอันใกล้ พวกเราต้องวิเคราะห์และโฟกัสไปที่นักลงทุนกลุ่มใด
สรุป Sell in May เป็นเรื่องที่มีแนวโน้มเกิดขึ้นจริง และส่วนใหญ่เกิดจากนักลงทุนรายใหญ่ในประเทศที่กำลังขายใส่กันเอง โดยต่างชาติเขาเลิกสนใจเหตุการณ์นี้มามากกว่า 5 ปีแล้ว ซึ่งในปัจจุบันกองทุนมีบทบาทในการกำหนดทิศทางตลาดมากกว่ากลุ่มอื่น ๆ อย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้น หากถ้าใครวิเคราะห์ว่าพวกเขายังคงพฤติกรรมเดิม คือ การลดน้ำหนักการลงทุนในเดือน พ.ค. ก็จะเป็น Factor สำคัญที่ทำให้ตลาดหุ้นปรับตัวลดลง และพวกท่านควรหาวิธีรับมือ โดยถ้าเป็นไปไม่ได้ เราไม่อยากให้เลือกวิธีการขายหุ้น เพราะนั่นจะยิ่งทำให้ตลาด Panic ตามเกมของเจ้า แต่วิธีที่ควรทำ คือหันมาใช้ Product อย่าง put DW หรือ Short TFEX แทนที่ เพราะผลิตภัณฑ์เหล่านี้จะไม่ทำให้เกิดแรงขายจริงในตลาด(หรือเกิดน้อยกว่า) เพียงเท่านี้พวกท่านก็จะ 1 ในคนที่ช่วยให้ตลาดไม่ปรับตัวลงแรงและยังปกป้องความเสียหายจากพอร์ตหุ้นโดยไม่จำเป็นต้องขายได้อีกด้วย
สุดท้ายพวกเราอยากรณรงค์ให้ทุกท่านแชร์ข้อมูลข่าวสารด้วยเหตุและผล ร่วมกันวิเคราะห์หาข้อเท็จจริงและเปลี่ยนเป็นผลสรุปที่ถูกต้อง เพื่อลดการใช้ความรู้สึกทางอารมณ์ในการตัดสินใจซื้อขาย เพราะไม่อย่างนั้นเหตุการณ์ที่แท้จริงแล้วไม่ควรเกิด มันอาจเกิดขึ้นด้วยน้ำมือของพวกเราที่ตกใจกับเรื่องเหล่านี้ โดยพวกเราพร้อมจะเป็น 1 ในคนที่ออกมาให้ข้อมูลกับทุกท่าน ซึ่งหากใครที่คิดว่าเป็นประโยชน์ ก็แสดงออกให้เรารับรู้ด้วยกำลังใจและส่งต่อกระทู้ให้คนอื่นได้ทราบถึงข้อมูล และสำหรับใครสนใจเล่น TFEX หรือเล่นอยู่แล้ว พวกท่านสามารถเข้ามาร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูล กับเราและนักลงทุนท่านอื่นได้ที่ Open Chat หรือหลังไมค์ส่วนตัว โดยเราจะให้ข้อมูลทุกท่านเท่าที่พอมีความรู้ และเราขอให้ทุกท่านประสบความสำเร็จในการลงทุนกับ Sell In May รวมถึงเดือนอื่น ๆ ตลอดทั้งปี