เรากำลังจะจบ Series Block Trade กันแล้วนะครับ หวังว่าจะเป็นประโยชน์ต่อทุกท่าน แล้วหากยังมีคนสนใจเราช่วยเป็นกำลังใจให้เราต่อด้วยนะครับ

หลังจากที่ทุกท่านได้ทราบกันแล้วว่า Block Trade ส่งผลอย่างไรต่อ “หุ้น” และรายใหญ่สามารถใช้ประโยชน์ในการสร้างความได้เปรียบได้อย่างไรบ้าง? วันนี้พวกเราจะพาทุกท่านเข้าสู่เนื้อหาสำคัญคือ การเปิดดูไพ่บนมือรายใหญ่ในธุรกรรม Block Trade เพื่อให้ทุกท่านได้กระจ่างชัดและวางแผนตั้งรับ โดยพวกเรามั่นใจว่า หลังจากท่านอ่านบทความนี้จบจะต้องช่วยเปิดโลกของการวิเคราะห์หุ้นในอีกมิติหนึ่งที่เป็นประโยชน์อย่างแน่นอน…อ่านให้จบกันนะครับ

“ในการวิเคราะห์หุ้น Volume คือสิ่งสำคัญ แต่การวิเคราะห์อนุพันธ์ OI สำคัญกว่า” นี่คือสิ่งที่นักลงทุนผู้เชี่ยวชาญในตลาด TFEX หลายท่านรับรู้และเข้าใจ โดยนำมาใช้วิเคราะห์กันมาอย่างเงียบๆ มาโดยตลอด แต่ก็ไม่มีผู้ใดออกมาเปิดเผยความจริงว่า พวกเขาได้ใช้ OI แทนที่ Volume กันมานานแล้ว แล้วสิ่งที่เรียกว่า OI นั้นคืออะไร? พวกเราจะอธิบายให้ทุกท่านได้ทราบกันครับ เพราะมันจะเป็น “ตัวแปรสำคัญ” ที่ช่วยเฉลยพอร์ต Block Trade ของรายใหญ่อย่างหมดเปลือกครับ

ทำความรู้จัก OI 
Open Interest หรือ OI หมายถึง จำนวนคู่สัญญาทั้งหมดของ Futures ตัวนั้นๆ ที่มีอยู่ในระบบ หรือที่เรียกว่า “สถานะคงค้าง” ตัวอย่าง เช่น ปัจจุบัน S50U19 มีค่า OI เท่ากับ 300,000 แปลว่า มีนักลงทุนที่มีความเห็นไม่ตรงกันใน S50U19 และกำลังเป็นคู่สัญญากันอยู่ 300,000 คู่ ซึ่ง OI เป็นข้อมูลที่เพิ่มเข้ามาเฉพาะในตลาดตราสารอนุพันธ์ และจัดอยู่ในหมวดของ Volume Analysis ที่สามารถใช้ในการยืนยันแนวโน้มของตลาด โดยเป็นตัวแปรสะสมที่จะสรุปข้อมูลทุกสิ้นวันทำการเท่านั้น

แล้วนักลงทุนจะใช้ประโยชน์กับข้อมูล OI อย่างไร ?
ความจริงแล้วนั้น เหล่านักลงทุนไม่ได้อยากทราบว่า OI มีค่าเป็นเท่าใด แต่พวกเขาอยากทราบว่ามันมีความเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร? ดังที่กล่าวไปข้างต้นว่า OI นั้นบ่งบอกถึง “ความมั่นใจของทิศทางราคา” โดยพวกท่านลองพิจารณาดูนะครับ ถ้าหากวันนี้ตลาดกำลังเป็นเทรนขาขึ้น แล้วปรากฏว่า OI ปรับตัวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นั้นแปลว่า กลุ่มคนที่ถือนั้นมาถูกทางแล้ว โดยกำลังมั่นใจในทิศทางอย่างต่อเนื่อง จึงทำการเปิดสถานะสะสมเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ ซึ่งนี่คือประโยชน์แบบลับๆ ที่นักลงทุนในตลาด TFEX ใช้ OI กันอยู่ครับ
จากนี้ต่อไปพวกท่านก็จะสามารถรับรู้ได้แล้วนะครับ ว่านักลงทุนต่างชาติหรือกองทุน เมื่อพวกเขาทำการ Long และ Short เพื่อเปิดสถานะเพิ่มหรือปิดสถานะทำกำไร ก็เพียงแค่มองไปดู OI ว่าเพิ่มหรือลดก็จะสามารถตอบได้ทันที และนี่เป็นอีกหนึ่งประโยชน์ที่เราสามารถนำไปใช้ได้ง่ายเพียงนิดเดียว … แต่หากพวกเราต้องแจ้งว่า สิ่งที่เราพูดมาทั้งหมดเป็นความจริงเพียงไม่ถึงครึ่ง พวกท่านจะโกรธเราไหมครับ? จากนี้พวกเราจะขออธิบายให้พวกท่านรับรู้ถึงความจริงส่วนที่เหลือกันต่อครับ

OI ซับซ้อนกว่าที่คิด! 
อ้าว! … อุตส่าห์ทำความเข้าใจเรื่อง OI และยกตัวอย่างให้เห็นภาพที่ดูเหมือนทุกอย่างจะสอดคล้องกันหมด แล้วทำไมพวกเราจึงบอกว่ายังไม่ถูกต้องทั้งหมด นั่นเพราะความจริงแล้ว OI ในตลาดมีความซับซ้อนมากกว่าที่คิด และพวกเราไม่ต้องการให้ทุกท่านนำไปใช้อย่างไม่ถูกต้อง เรามาทำความเข้าใจอย่างลึกซึ้งกันดีกว่าครับ

รูปแสดงการเกิดขึ้นของ Open Interest และ กรณีการเปลี่ยนแปลงทั้ง 3 กรณี

จากรูปแสดงให้เห็นว่า OI นั้นเกิดขึ้นจากนักลงทุนรายใหม่ 2 คน ที่มีความคิดเห็นไม่ตรงกัน โดยคนหนึ่งมองขึ้น (Long) ในขณะที่อีกคนนั้นมองลง (Short) จึงทำการเปิดสถานะมาเดิมพันความคิดของตนเอง และกลายเป็นคู่สัญญากัน แต่หลังจากนั้น ธุรกรรมในตลาดสามารถทำให้ OI เปลี่ยนแปลงได้ 3 กรณี กล่าวคือ…

กรณีที่ 1 นักลงทุนที่อยากเปิด Long เพิ่ม มาพบกับนักลงทุนที่อยากเปิด Short เพิ่ม โดยในที่นี้จะเป็นลักษณะคล้ายกับที่อธิบายไปข้างต้น ซึ่งจะทำให้ค่า OI ในระบบปรับตัวเพิ่มขึ้น

กรณีที่ 2 หากมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอยากเปิดเพิ่ม แต่อีกฝ่ายเลือกที่จะปิด โดยในการปิดสถานะนั้น เขาอาจทำเพื่อ Cut loss หรือ Take Profit ก็เป็นได้ และในกรณีการพบกันในความต้องการที่แตกต่างกันนั้น ทำให้มือใหม่หลายคนอาจสับสนว่าจะเป็นอย่างไร แล้วจะปิดสถานะได้หรือไม่? ในเมื่ออีกฝั่งไม่ยอมปิด แต่นั่นคือความเข้าใจผิด เพราะการปิดแบบนี้จะหมายถึง การโอนไปให้นักลงทุนท่านอื่นถือสถานะต่อจากท่าน และในกรณีนี้เองที่ OI ในระบบจะ ไม่เปลี่ยนแปลง

กรณีที่ 3 กรณีสุดท้ายนี้ คือ การพบกันของผู้ที่ต้องการปิดสถานะ กับผู้ที่ต้องปิดสถานะ ก็เป็นกรณีเดียวกันกับกรณีแรกแต่ตรงกันข้าม ดังนั้นแบบนี้ OI ในระบบจะลดลง

แปลว่าเราก็ใช้ OI กันไม่ได้แล้ว?
ข่าวดีครับ … เพราะ OI กลับมาสามารถใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพในธุรกรรม Block Trade !!

ทุกคนรับรู้ว่า Block Trade ก็เป็น Futures อย่างหนึ่ง แล้วทำไมเราจึงบอกว่าสามารถใช้ได้ดี? มันควรจะเกิดกรณีที่ซับซ้อนแบบเดียวกับที่เรากล่าวไปข้างต้น มิใช่หรือ? คำตอบคือ ไม่ใช่เลยครับ! เพราะโครงสร้างของธุรกรรม Block Trade เป็นแบบ 2 มิติอย่างง่าย ไม่ซับซ้อน คือเปิดต้องพบเปิด และเมื่อปิดต้องพบปิด โดยไม่มีมือที่ 3 เข้ามาเกี่ยวข้อง

หลังจากที่เรารู้จักพระเอกของเรื่องนี้แล้ว เราขอกลับเข้าสู่เนื้อหาหลักกันดีกว่าครับ ว่าเราจะใช้ OI ในการเปิดไพ่(พอร์ต) ของรายใหญ่กันได้อย่างไร

การเปลี่ยนแปลงของ OI ใน Block Trade จะเป็นตัวบ่งชี้ว่าหุ้นตัวนั้นต้องเกิดอะไรขึ้นอย่างแน่นอน!

ก่อนอื่นเรามาสร้างโจทย์คำถามเพื่อให้ทุกคนคิดต่อในมุมมองเดียวกันก่อนนะครับ กล่าวคือ หากถ้าทุกคนได้ยินข่าววงในมาว่าบริษัท XXX ที่มีใน Single Stock Futures กำลังประกาศกำไรออกมาสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยยังไม่มีใครทราบ พวกท่านจะทำอย่างไรให้ได้กำไรสูงสุด โดยเราเชื่อว่าทุกท่านคงนึกถึงการทำกำไรให้มากมายที่สุด และหนึ่งในเครื่องมือที่ทำกำไรได้สูงสุดในตลาด ก็คือ Block Trade นี่แหละครับ เราจึงบอกว่าตราบใดก็ตามที่มีข่าวดีหรือร้ายออกมา หากมีคนมั่นใจ อย่างไรก็หนีไม่พ้นการใช้ Block Trade

             “Block Trade เป็นธุรกรรมที่ต้องเปิดเผยสู่สาธารณะ” นี่เป็นอีกหนึ่งในข้อดีมากของธุรกรรม Block Trade กล่าวคือ เมื่อมีการซื้อขายแล้ว ตัวเลขทั้งหมดจะต้องแสดงออกมาสู่สาธารณะแบบ real time เพียงแต่เราจะเห็นเฉพาะ order ที่เกิดขึ้นแล้วเท่านั้น ทำให้เรายังไม่สามารถวิเคราะห์เพิ่มเติมได้ว่าเป็นการเก็บหุ้น หรือแค่การ Day trade
OI จะเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญว่าหุ้นตัวนี้กำลังถูกเก็บหรือไม่ อย่างที่ทุกคนได้ทราบจากครึ่งแรกของบทความว่า OI หรือสถานะสะสมนั้นเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงทุกสิ้นวันทำการ ดังนั้นจึงสามารถทำให้เราทราบได้ว่า ถ้า OI ขึ้นแสดงว่ามีรายใหญ่เข้ามาสะสมหุ้นใน Block Trade และถ้าหาก OI ลดแสดงว่าเขาปิดทำกำไรออกไปแล้ว

วิเคราะห์ OI ในมุมมองทิศทางระยะสั้น 

เรื่องนี้สำคัญมาก คือทุกท่านต้องสังเกตถึงการเปลี่ยนแปลงของ OI ในระยะสั้นให้เป็น โดยหาก OI ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันพวกท่านต้องรู้ว่า หุ้นตัวนั้นกำลังมีรายใหญ่ใช้ Block Trade ในการทำอะไรสักอย่าง โดยพวกเขากล้าขยายอำนาจเงินเพิ่มแบบนี้ยิ่งบ่งชี้ถึงความมั่นใจในทิศทางของหุ้นตัวนั้น แสดงว่าเขาต้องรู้อะไรมาและ “หุ้นตัวนั้นต้องมีการเคลื่อนไหวสักทางใดทางหนึ่งอย่างแน่นอน” โดยเราจะพิจารณาจากหุ้นที่อยู่ในกระแสตอนนี้
รูปแสดงการเคลื่อนไหวของ PTTGC Futures

จากกราฟจะพบว่า

หมายเลข 1 เป็นวันที่อยู่ ๆ OI ของ PTTGC Futures ก็ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันจาก 6000 สัญญา ขึ้นไปแตะ 14000 สัญญา ! และจากนั้นภายใน 1 อาทิตย์ถัดไป ราคาก็ปรับตัวขึ้นตามจาก 62 บาทไปแตะเกือบ 65 บาท บ่งบอกได้ว่ามีคนเขารู้ว่าราคากำลังปรับตัวเพิ่มขึ้นในระยะสั้น
หมายเลข 2 เป็นช่วงที่ราคากำลังทรง ๆ แต่ OI กลับหายไปดื้อ ๆ จาก 20000 สัญญา เหลือ 15000 สัญญา หรือ 1 ใน 4 ที่ตัดสินใจขายออก บ่งบอกว่าเขาอาจรับรู้ข่าวอะไรมาบางอย่างว่าหุ้นตัวมีเริ่มมีกลิ่นที่ไม่ดีแล้ว
หมายเลข 3 เป็นช่วงที่นักลงทุนที่เป็นเหยื่อจำเป็นต้องขายโดยเกิดการ Force Sell ทำให้ จาก 15000 สัญญาเหลือ 9000 สัญญา ซึ่งถือเป็น 40% ของทั้งหมด ดังนั้น การ Force ของ PTTGC นั้นใกล้จะจบแล้ว นักลงทุนรายใหญ่คงรอให้นิ่งแล้วหาจังหวะเก็บต่ออีกในเร็ว ๆ นี้

สรุปแล้ว ถ้ามีนักลงทุนมั่นใจและใช้ Block Trade เขาจะไม่สามารถหลบซ่อนตัวให้เนียนได้ เพราะค่า OI จะเป็นตัวเฉลยทั้งราคาและปริมาณออกมา แต่ถึงอย่างก็ตาม คงไม่ใช่ปัญหาอะไรสำหรับพวกเขาในเรื่องนี้ เพราะค่า OI จะถูกเปิดเผยออกในช่วงสิ้นวันทำการ ซึ่งเขาได้ Action เสร็จไปแล้ว แต่ข้อมูลเหล่านี้จะเป็นประโยชน์กับนักลงทุนท่านอื่น ในลำดับถัด ๆ ไปนั้นเอง โดยหากถ้าใครสังเกตเห็นพฤติกรรม Block Trade ก็จะทำให้ได้เกาะเทรนของหุ้นตัวนั้นได้เร็วกว่า ในการหาจังหวะเล่นในระยะสั้น รวมถึงทำให้อยู่รอดปลอดภัยอีกด้วย

มาถึงอีกเนื้อหาสำคัญของเรื่องนี้ นั้นคือสัญญาณเฝ้าระวังที่ทุกคนต้องจับตาดูเพิ่มเติม ซึ่งสัญญาณเหล่านี้จะยังไม่เป็นการที่เราต้องรีบหนีแต่เราต้องจับตาดูหุ้นเหล่านั้นอย่างใกล้ชิด ซึ่งหากถ้าพวกท่านเป็นนักลงทุนรายใหญ่แล้วต้องการทุบหุ้น พวกท่านจะเลือกหุ้นที่ทุบอย่างไร ? แน่นอนว่าเขาต้องเลือกหุ้นที่มีความที่เปราะบางที่สุด … โดยความเปราะบางในทีนี้ จะหมายถึง “ตัวที่นักลงทุนพร้อมจะถูก Force sell ไวที่สุด”ดังนั้นเราลองมาดูสัญญาณว่าหุ้นที่มีโอกาสถูก Force sell 3 สัญญาณต่อจากนี้

1.ราคาหุ้นที่ปรับขึ้นมาสักระยะแล้วและยังขึ้นต่อ แต่ OI เริ่มหยุด !
คงเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นยากมาก หากถ้านักลงทุนมั่นใจว่าหุ้นจะขึ้นแต่ไม่ใช้ Block Trade ในการเก็บหุ้น ดังนั้นเมื่อหากเราเห็นราคาขึ้นปรับตัวขึ้น แต่ OI เริ่มแสดงท่าทีว่าไม่อยากเก็บต่อถ้าเมื่อไรก็ตามที่หุ้นขึ้นสูงมากในระดับนึงแล้ว OI ไม่เพิ่มขึ้นตาม นั้นเป็นอีกจุดหนึ่งที่ทุกคนต้องเริ่มสงสัยได้แล้วว่า ทำไมรายใหญ่ที่มีเงินถึงไม่เก็บต่อ  นั้นอาจเป็นสัญญาณที่รายใหญ่กำลังบอก พอแล้ว , มากกว่านี้มันเสี่ยงเกินไปแล้ว , ซึ่งพวกท่านเองที่มีกำไรก็ต้องจ้องหรือหาจังหวะออกเช่นเพราะนั้นอาจเป็นสัญญาณว่าหุ้นตัวนั้นกำไรจบรอบแล้ว

2.ปริมาณ OI คงค้างเมื่อเทียบกับมูลค่าการซื้อขายต่อวัน
             พวกท่านลองคิดดูว่าหากปริมาณคงค้างใน Block Trade สะสมสูงถึงมูลค่า 100 ล้าน แต่หุ้นตัวนั้นซื้อขายเพียงวันละ 10 ล้าน ผลลัพธ์จะเป็นอย่างไรหากถ้าราคาปรับตัวลดลง แน่นอนว่าปริมาณการซื้อขายไม่มีทางรองรับได้พอการถูก Force sell อย่างแน่นอน ทำให้เกิดการ Panic ได้โดยง่าย และในกรณีเลวร้ายที่สุด คือ ต่อให้พวกท่านอยากขาย พวกท่านก็ขายไมได้ เนื่องจากไม่มีคนรับ และเรื่องแบบนี้เคยเกิดขึ้นมาหลายครั้งแล้ว ! ในประวัติศาสตร์ของ Block Trade

3.Margin เป็นอีกเรื่องที่มองข้ามไม่ได้
             หลายท่านอาจไม่รู้ว่า เงินวางประกันในตลาด TFEX ที่พวกเหล่าวิทยากรชอบเปรยกันว่าประมาณ 10% ของมูลค่า นั้นแท้จริงแล้วเป็น “ค่าคงที่ค่านึง” ที่ตลาดเขาคิดขึ้นจาก Factor ต่าง ๆ เช่น มูลค่าสัญญา และใช้อย่างต่อเนื่อง และอีกเรื่อง คือ ค่าเหล่านี้จะเปลี่ยนประมาณเดือนละ 1 ครั้ง คำถามคือ แล้วจะเปลี่ยนตามอะไร ? คำตอบ คือ “ความผันผวนของสินทรัพย์อ้างอิง” ดังนั้น นี้คือสัญญาณเตือนตัวที่ 3 หากถ้าหุ้นตัวไหนมีการปรับตัว Margin ให้อยู่ในระดับเงินวางต่ำกว่า 5-10% เมื่อไหร่ให้พวกท่านรับรู้ว่า รายใหญ่เขากำลังจ้องหุ้นเหล่านี้อยู่

นี่ถือเหตุผลทั้งหมดที่ทำให้หุ้นบางตัวเวลาราคาลงเกินกว่า 5-10%  “ต้องถูก Panic เสมอ” โดยเป็นเรื่องที่รายใหญ่รับรู้โดยทั่วกัน และขึ้นอยู่กับว่าเขาอยากจะเชือดตัวไหนเมื่อไหร่ ดังนั้นนักลงทุนอย่างพวกเราเองก็ต้องคอยหมั่นสังเกตพฤติกรรมเหล่านี้เพื่อให้ตัวเองไม่เป็นเหยื่อของพวกเขา

***ในส่วนสัญญาณเตือนทั้ง 3 นี้เราจะเพิ่มเติมข้อมูลให้วันพรุ่งนี้ตอนเย็น … (กำลังจัดทำเนื้อหา ขออภัยครับ)

สุดท้ายนี้ เราจะจบ Series Block Trade กันในตอนถัดไป ด้วยเรื่อง วิธีการดู Block Trade โดยละเอียดและแนวโน้มของ Block Trade ในอนาคต หากใครมีข้อสงสัยรีบถามกันเข้ามานะครับ และถ้ายังมีนักลงทุนสนใจข้อมูลเหล่านี้อยู่ช่วยแสดงออกให้เราได้รับรู้ด้วย และพวกเราจะเริ่มเนื้อหาใหม่ โดยเป็นเรื่องที่เข้าถึงง่ายและทุกคนคุ้นชินอย่างแน่นอน รอติดตามกันต่อไปหลังจากนี้ … ซึ่งหากถ้าพวกเราหายไป แสดงว่าพวกเราโดนเก็บไปแล้วนะครับ 555